"สมศักดิ์" สั่งขยาย "ชุมชนล้อมรักษ์" ทั่วประเทศช่วยผู้ป่วยติดยาเสพติด 

11 มี.ค. 2567 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2567 | 15:20 น.

"สมศักดิ์" นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดบำบัดผู้ติดยาเสพติด สั่งขยาย "ชุมชนล้อมรักษ์" ครอบคลุมทั่วประเทศ หลังช่วยบำบัดผู้ป่วยกลุ่มใหญ่สุด ระบุข้อมูลปี 67 ผู้ป่วยยาเสพติดสะสม 4.6 หมื่นคน อยู่ในกลุ่มสีเขียว 3.6 หมื่นคน ยันต้องเร่งแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ 

11 มีนาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการเข้าร่วมการประชุม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความต้องการที่จะทำให้ยาเสพติดพ้นไปจากประเทศไทยแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซึ่งต้องมีการบูรณาการทุกภาคส่วน สำหรับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการชุดนี้นั้น

ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากเพราะการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ ขณะที่ต้นน้ำ คือ การปราบปรามผู้ผลิตยาเสพติดซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าไม่ได้จัดการกับผู้ผลิตอย่างจริงจัง ในขณะที่สังคมโลกก็จับตาว่าไทยจะดำเนินการอย่างไรเพราะแหล่งผลิตยาเสพติดอยู่ติดกับไทย 

\"สมศักดิ์\" สั่งขยาย \"ชุมชนล้อมรักษ์\" ทั่วประเทศช่วยผู้ป่วยติดยาเสพติด 

คณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ชะลอให้มีผู้ติดยาเสพติดน้อยลงพร้อมช่วยดูแลไม่ให้มีผู้ติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยบูรณาการกับหน่วยงานที่ทำต้นน้ำ ทั้งการปราบปราม และยึดอายัดทรัพย์ โดยสถานการณ์ผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดเริ่มมีจำนวนมาก ในปี 2566 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม รวม 195,604 คน แบ่งเป็น ผู้ป่วยสีแดง 12,614 คน ผู้ป่วยสีส้ม 5,089 คน ผู้ป่วยสีเหลือง 3,269 คน และผู้ป่วยสีเขียว 174,632 คน

ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ช่วง 26 ก.พ.-3 มี.ค.67 มีจำนวน 532 คน ทำให้มีผู้ป่วยสะสมในปี 2567 แล้ว 46,566 คน โดยกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นสีเขียว  36,825 คน

\"สมศักดิ์\" สั่งขยาย \"ชุมชนล้อมรักษ์\" ทั่วประเทศช่วยผู้ป่วยติดยาเสพติด 

ดังนั้น การบำบัดผู้ป่วยสีเขียวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญโดยขณะนี้ได้ใช้ระบบชุมชนล้อมรักษ์ คือ การให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยสีเขียวที่เป็นผู้ป่วยยาเสพติดอย่างเดียว ไม่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วยซึ่งมองว่า ควรมีทุกอำเภอ โดยขณะนี้เริ่มต้นประมาณ 200 อำเภอกว่า 31 จังหวัดแต่ด้วยสถานการณ์ผู้ป่วยสีเขียวควรขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ส่วนการบำบัดผู้ป่วยสีแดง คือ ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วยและกำลังแสดงอาการอาละวาดคลุ้มคลั่งควรมีการรองรับได้ทั่วประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดได้มากขึ้น