มหาวิทยาลัยไทยในเงา “ทุนจีน” กับผลกระทบใต้ “ภูเขาน้ำแข็ง”

24 ก.พ. 2568 | 05:10 น.

ทุนจีนรุกหนัก! ฮุบ 3 มหาวิทยาลัยเอกชนไทย สัญญาณเตือนภัย “ภูเขาน้ำแข็ง” ผลกระทบซ่อนเร้นต่อตลาดแรงงานไทย เตือนระวัง “ฟอกคน” หรือ “ฟอกจีน” จี้แรงงานไทยต้องเร่งอัพสกิล

การเข้ามาของ “ทุนจีน” ในมหาวิทยาลัยไทยกลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหลังจากที่ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาระบุว่า พบทุนจีน “ฮุบ” มหาวิทยาลัยเอกชนไทยแล้ว 3 แห่ง

ซึ่งปรากฏการณ์นี้เปรียบเสมือน “ภูเขาน้ำแข็ง” ที่มีส่วนที่มองเห็นได้เพียงเล็กน้อย แต่มีผลกระทบซ่อนเร้นอีกมากมายที่รอการเปิดเผย ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายการศึกษาที่พุ่งสูงในโลกตะวันตก “อาเซียน” กลายเป็นจุดหมายปลายทางใหม่ทางการศึกษาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ “ประเทศไทย” ที่ดึงดูดนักเรียนและนักศึกษาจีนจำนวนมหาศาลให้เข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

มหาวิทยาลัยไทยในเงา “ทุนจีน” กับผลกระทบใต้ “ภูเขาน้ำแข็ง”

“นักศึกษาจีนตกเกรด” ที่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จำนวน 2 – 3 ล้านคนต่อปี ทำให้นักศึกษาบางส่วนต้องเลือกไปศึกษาต่อต่างประเทศ และไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกนั้น เพราะค่าครองชีพที่ครอบครัวของชนชั้นกลางจีนทั่วไป สามารถจ่ายได้

ปัจจุบันประเทศไทยมีนักศึกษาต่างชาติกว่า 190 ประเทศเข้ามาเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของไทย โดยเฉพาะชาวจีนที่นิยมส่งลูกหลานเข้ามาเรียนในไทยเป็นสัดส่วน นักศึกษาต่างชาติในไทยเกินครึ่ง การที่ไทยกลายเป็น “ฮับการศึกษา” นำมาซึ่งคำถามสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของนักศึกษาจีนที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไทย พวกเขาจะเข้าไปทำงานในภาคส่วนใดของตลาดแรงงานไทย? และผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยจะเป็นอย่างไร?

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และสื่อสารการตลาด กล่าวว่า นักศึกษาจีน เปรียบเสมือนสะพานเชื่อมของตลาดแรงงานไทยจีน นักศึกษาจีนที่จบการศึกษาในไทยก็มีโอกาสได้แต้มต่อในการทำงานบริษัทจีนที่อยู่ในไทย และนักศึกษาไทยเองที่จบหลักสูตรภาษาจีนก็สามารถสร้างแต้มต่อในการทำงานในบริษัทไทยในจีนได้

เมื่อการศึกษาที่เป็นรากฐานของชีวิต กลับกลายเป็นสะพานเชื่อมในการทำงานของแรงงานต่างชาติ ที่หลายคนตั้งคำถามว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทยอย่างไร

ปัจจุบัน แรงงานประเทศไทย 38 ล้านคน เกือบ 50% เป็นแรงงานที่อยู่นอกระบบ และมีแรงงานกว่า 15.6 ล้าน หรือ 42% เป็นแรงงานที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 13.4 ล้านคน หรือ 36% ระดับมัธยมศึกษา และ 8.5 ล้านคน หรือ 22% ระดับอุดมศึกษา

ด้านดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท). กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เมื่อพูดถึงตลาดแรงงานข้ามชาติ เราต้องแยกว่าเป็นแรงงานต่างด้าวที่โลว์สกิล และแรงงานต่างชาติที่สกิลสูง ไทยยังคงต้องการแรงงานต่างชาติที่มีสกิลมาเข้ามาเติมเต็มในตลาดแรงงาน

มหาวิทยาลัยไทยในเงา “ทุนจีน” กับผลกระทบใต้ “ภูเขาน้ำแข็ง”

ขณะที่นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงที่หลายคนจับตาว่าการป้อนนักศึกษาจีนที่จบในไทยเป็นการฟอกคนหรือไม่นั้น เราต้องฟอกจีนให้รักไทย ฟอกไทยให้ใช้ประโยชน์จากนักศึกษาจีน เปลี่ยนนักศึกษาจีน เป็นทูตการศึกษาและท่องเที่ยวไทย เพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยว ครอบครัวนักศึกษา เพื่อนชาวจีน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในการดูแลเอาใจใส่ สร้างความเชื่อมั่นระบบความปลอดภัยของประเทศไทย

ต้องฉายภาพว่าตลาดแรงงานไทยความต้องการยกระดับทักษะ ขีดความสามารถของประชากรไทยวัยแรงงานพบว่ามีความต้องการกว่า 5.3 ล้านคนต่อปี แต่ประเทศไทยมีงบประมาณ และทำได้ปีละไม่ถึง 50% ของความต้องการ เราเลยต้องการแรงงานต่างชาติ ที่สำคัญ คือ การเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังคนเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

มหาวิทยาลัยไทยในเงา “ทุนจีน” กับผลกระทบใต้ “ภูเขาน้ำแข็ง”

รัฐบาลไทยควรมีมาตรการกำกับดูแลการเข้ามาของทุนจีนในมหาวิทยาลัยไทยอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น มหาวิทยาลัยไทยควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการรับมือกับการเข้ามาของทุนจีน โดยเน้นการรักษามาตรฐานและคุณภาพการศึกษา และปกป้องเสรีภาพทางวิชาการภาคเอกชนไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล

หากเปรียบตลาดแรงงานไทยเป็นสนามรบ เมื่อเราเปิดประตูบ้านอ้าแขนรับ “ข้าศึก” ให้กลายเป็น “พลทหาร” ต้องมีกลไกทางกฎหมายที่บังคับใช้อย่างแข็งแรงเพื่อป้องกัน “สงครามกลางเมือง” และโอบอุ้มแรงงานไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนได้อย่างยั่งยืน

 

วิเคราะห์หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,073 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568