จีนถือเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับ 1 ของไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 นับตั้งแต่ปี 2557 โดย 5 อันดับสินค้านำเข้าได้แก่ เครื่องจักร-อุปกรณ์การผลิต, อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า, สินค้าเกษตร, วัสดุก่อสร้างและผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งวันนี้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในตลาดหลักของกลุ่มทุนจีน ที่ขยายอาณาจักรเข้ามาตั้งรกราก และไม่ใช่แค่การนำเข้าและขายไป แต่รวมไปถึงการลงทุนตั้งโรงงานผลิต พร้อมจำหน่ายครบวงจร ด้วยจุดเด่นที่ต้นทุนต่ำ ราคาถูก และมีสินค้าหลากหลาย วันนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของทุนจีน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างหนักและถึงเวลาที่ต้องรุกขึ้นมาปรับตัวสู้
นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม และกรรมการผู้จัดการบริษัท โควิก เคทท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จํากัด บริษัทผู้ผลิต เครื่องสำอางและอาหารเสริม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำอย่างเร่งด่วนคือรักษา SMEs ในทุกอุตสาหกรรมเอาไว้ หากรายเล็กอยู่ไม่ได้รายใหญ่ก็ไม่ยั่งยืน เนื่องจากต้นทุนของ SMEs ของไทยไม่มีทางสู้ทุนจีนได้ การผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในราคาถูกจึงสู้ทุนจีนไม่ไหว การจับมือในภาคอุตสาหกรรมด้วยกันเองหรือจับมือกับทุนจีน จะเป็นทางเลือกให้สามารถซื้อวัตถุดิบจากจีนในราคาถูกได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง
ทั้งนี้กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ในไทยอาจได้รับกระทบน้อยกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมอื่น แม้นำเข้าวัตถุดิบจากจีนมาผลิตเป็นสินค้าค่อนข้างสูง แต่ส่วนใหญ่จีนไม่ใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ผลิตสินค้าเอง เพราะยังไม่ได้รับความน่าเชื่อถือมากนักในตลาดโลก และการรุกตลาดเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจสุขภาพและความงามในประเทศไทยถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น แต่ก็ต้องคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพราะถึงอย่างไรในอนาคตทุนจีนน่าจะรุกตลาดเข้ามาแน่นอน
“ปัจจัยที่ทำให้ทุนจีนบุกไทยได้อย่างรวดเร็วมีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกำลังการผลิตสูง สินค้ามีจำนวนมากจนล้น ต้องกระจายออกนอกประเทศให้เร็ว อีกทั้งต้นทุนการผลิตยังถูกกว่าไทย บางอย่างถูกมากกว่า 50% เช่น กล่องกระดาษ พลาสติก ไฟฉาย ฯลฯ โดยเครื่องจักรในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งเทคโนโลยีและอุปกรณ์การผลิตจีนสามารถสร้างได้เอง ต่างจากไทยที่ต้องนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ ประเด็นถัดมาคือในภูมิภาคเดียวกันไทยมีความยำเกรงจีนพอสมควร เปิดรับทุนจีนเข้ามาในประเทศง่าย ขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มีนโยบายควบคุมสินค้าจีนและควบคุมการลงทุนจากจีน”
หากไทยต้องการแข่งขันกับจีนให้ได้ ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต้องมีความรู้เกี่ยวกับแหล่งวัตถุดิบราคาถูก ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง รู้จักบริหารจัดการกำลังคนทำงานโดยไม่ใช้คนสิ้นเปลือง รู้จักใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่สามารถลดต้นทุนการสร้างสินค้าและผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ต้องศึกษาขอบข่ายของตลาดเพื่อชูจุดแข็งว่าไทยโดดเด่นและเก่งด้านไหนบ้าง เช่น กลุ่มสินค้าแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพสูง ยกระดับหัตถกรรม สนับสนุนเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนสุขภาพและความงาม
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตของไทยหลายกลุ่มที่มีขนาดเล็กก็จำเป็นต้องขายสินค้าในราคาสูงถึงจะอยู่รอด ดังนั้นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็ต้องมีส่วนช่วยพยุงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน ใช้ความเก่งเฉพาะด้านซัพพอร์ตกันได้
“ตอนนี้ภาครัฐจะต้องรีบดูแลผู้ประกอบการรายเล็กและอุตสาหกรรมขนาดเล็กด้วย แม้จะมีเพิ่มขึ้นมาเป็นจำนวนมากแต่ก็ล้มหายไปเร็วมากเช่นกัน ไม่เป็นผลดีต่อประเทศและอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายใน 1-2 ปี นอกจากนี้จะต้องเน้นไปยังธุรกิจกึ่งโปรดักส์และกึ่งบริการที่ทุนจีนไม่มีทางสู้ได้ ให้ความรู้กับองค์กรและหน่วยงานเพิ่มศักยภาพด้านและเทคโนโลยีของทุนไทยให้มากขึ้น รวมถึงใช้ซอฟต์พาวเวอร์ตามนโยบายที่จะสร้างธุรกิจของไทยให้เติบโตแข่งกับจีนได้ ประเด็นนี้น่าจะแก้ปัญหาตรงจุดและเป็นไปได้สูง”
ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ประเด็นเกี่ยวเนื่องกับทุนจีนที่ใหญ่สุดตอนนี้คือการบุกตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในหลายประเทศ โดยครอบคลุมตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีจีนเป็นคู่ค้าทั้งหมด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มสินค้าของใช้ขนาดเล็ก สินค้าจีนส่งผลกระทบต่อ SMEs ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายในประเทศนั้นๆ เป็นอย่างมาก ด้วยภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันจีนใช้กลยุทธ์ด้านราคาที่ต่ำกว่าสินค้าจากประเทศอื่นเพื่อเจาะกลุ่มกำลังซื้อน้อย 2.กลุ่มผู้ค้าที่ซื้อสินค้ามาขายต่อเริ่มขายยากขึ้น เพราะจีนหันมาใช้กลยุทธ์ขายตรงบนแพลตฟอร์มของตัวเอง แม้กระทั่งโรงงานผู้ผลิตในจีนยังส่งสินค้าขายตรงแข่งกันเอง
“ตลาดอีคอมเมิร์ซถือว่าเปิดกว้าง แต่ก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย อย่างในไทยมีสินค้าขายออกไปจีนได้ สินค้าจีนก็กลับเข้ามาได้เหมือนกัน แต่การขายเรายังไม่เก่งเท่าจีน ส่วนที่ขายออกไปยังไม่เท่าที่ซื้อกลับเข้ามา อีกอย่างรัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการของตัวเอง ส่งเสริมไม่ให้ผู้ประกอบการลดกำลังการผลิต ต้นทุนการผลิตของจีนจึงต่ำและขายในราคาถูกได้”
นอกจากนี้ ภาคเอกชนต้องพัฒนานวัตกรรมการผลิตของตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เท่าทันโลก คิดคำนวนการลดต้นทุน ใช้เทคโนโลยี เครื่องจักร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่วนภาครัฐต้องปลดล็อคกฎระเบียบหรือข้อบังคับต่างๆ ที่ซ้ำซ้อน เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปเร็วที่สุด เช่น การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำอีโคซิสเต็มด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้สู้จีนได้ตั้งแต่ในประเทศ
ขณะที่ นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ปฏิเสธไม่ได้หากทุนจีนจะบุกตลาดโลกและตลาดในไทย เพราะสินค้าและนวัตกรรมของจีนพัฒนาอยู่ตลอดเวลา บางอย่างถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้ใช้สะดวกขึ้น ใช้ง่ายขึ้น เปลี่ยนเทรนด์ได้ โดยสินค้าจีนบางอย่างถูกและคุณภาพได้ แต่บางอย่างถูกแต่คุณภาพไม่ได้
สิ่งสำคัญอยู่ที่รัฐบาลไทย ต้องทำให้การแข่งขันของตลาดในประเทศระหว่างไทยกับจีนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเรื่องกฏหมายหรือภาษีก็ตาม เพราะถือเป็นช่องว่างขนาดใหญ่ที่ไทยยังตามจีนไม่ทัน และถ้าทุนจีนเข้ามาตั้งร้านค้าแข่งกับทุนไทย ผู้ประกอบการไทยก็ต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ดี เพื่อเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับผู้บริโภค เพราะถึงอย่างไรผู้บริโภคก็เป็นคนตัดสินไม่ว่าจะอุตสาหกรรมไหนก็ตาม
“ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคยังมองเห็นว่าธุรกิจของจีนมีความหลากหลาย สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ น่าลอง มีความโดดเด่น เช่น เครื่องปรุงหมาล่า หากมองในหลายมิติทั้งในมุมมองนายทุน ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลไทยจะต้องมองในระยะสั้นระยะยาว มีกฎหมายหนักแน่นบังคับใช้จริง มีความชัดเจน และคิดพัฒนาให้เดินหน้าต่อโดยไม่ต้องมองถึงการกีดกันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงการพัฒนาตัวเองมากกว่า เพราะตลาดในโลกของธุรกิจคือก้อนเดียวกัน อยู่ที่ว่าใครจะมีกลยุทธ์ที่สามารถช่วงชิงได้มากกว่ากัน”