ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สสอท.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงประเด็นการลงทุนของกลุ่มทุนจีนในมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย
โดยมองว่าเป็นโอกาสที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาในประเทศ การเข้ามาของทุนจีนอาจช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และดึงดูดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ให้เข้ามาสร้างชื่อเสียงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยไทย
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยที่มีทุนจีนถือหุ้นยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยไทยทั่วไป ซึ่งหมายความว่าไม่มีการสนับสนุนพิเศษเพิ่มเติม เช่น งบประมาณจากรัฐหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นต้น
"การที่ทุนจีนเข้ามาทุนในมหาลัยวิทยาลัยในไทย ต้องปฏิบัติเหมือนกับของมหาลัยไทยทั่วไป ไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยเอกชน ไม่ได้มีแต้มต่อในการอุดหนุนเป็นพิเศษ ไม่ได้งบประมาณจากรัฐ และไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่อาจจะได้โอกาสในการได้รับการดูแลคุณภาพวิชาการจากภาครัฐ โดยที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยที่กลุ่มทุนจีนเข้ามาเป็นเจ้าของสามารถดำเนินการได้ แสดงว่ามันไม่น่าจะขัดต่อกฏหมาย ก็สะท้อนว่าเขาไม่น่าละเมิดกฎหมาย ไม่งั้นรัฐบาลจะต้องทำการเข้าไปดูแลเรื่องนี้" ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเอกชนในไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากแนวโน้มประชากรที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักศึกษาลดลงตามไปด้วย อัตราการเกิดที่ต่ำลงในแต่ละปีเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้สมัครเข้ามหาวิทยาลัยลดลง ขณะเดียวกัน การแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยเอกชนและรัฐยิ่งทวีความรุนแรง
"มหาวิทยาลัยเอกชนต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เพียงมาจากภายในกลุ่มเอกชนเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับมหาวิทยาลัยรัฐที่เริ่มรับนักศึกษาหลักสูตรพิเศษมากขึ้น รวมถึงการทำการตลาดที่ก้าวหน้า" ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
การเปิดรับนักศึกษาต่างชาติเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่มหาวิทยาลัยเอกชนไทยนำมาใช้เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ ปัจจุบัน กลุ่มนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในไทยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและเมียนมา โดยนักศึกษาจีนเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดขณะที่สถานการณ์การเมืองในเมียนมาก็ส่งผลให้นักศึกษาในประเทศนั้นเข้ามาเรียนในไทยเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ นักศึกษาจากภูมิภาคอื่น เช่น ยุโรปและรัสเซีย ก็เริ่มให้ความสนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนและศึกษาต่อในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักสูตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน อาจได้รับการช่วยเหลือจากทุนจีนผ่านการลงทุนหรือการเข้าซื้อกิจการ เช่น กรณีมหาวิทยาลัยชินวัตรและมหาวิทยาลัยเกริก ที่มีทุนจีนเข้ามาถือหุ้น การลงทุนในลักษณะนี้ช่วยเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาจีนเข้ามาเรียนในไทยมากขึ้น และเป็นการปรับตัวเชิงธุรกิจเพื่อความอยู่รอด
"การที่ทุนจีนเข้ามาเทคโอเวอร์มหาวิทยาลัยเอกชนที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวทางธุรกิจ เช่นเดียวกับโรงเรียนอินเตอร์ที่เป็นของชาวต่างชาติในไทย" ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
ในอนาคต กระทรวงการอุดมศึกษาฯ มีแนวโน้มสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกเข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของนักศึกษาต่างชาติและเพิ่มโอกาสให้นักเรียนไทยได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสูง
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในระบบการศึกษา อาจนำไปสู่การปิดตัวของมหาวิทยาลัยบางแห่งทั้งในภาคเอกชนและรัฐ ซึ่งการรวมตัวกันของมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้น
ดังนั้นการเข้ามาของทุนจีนในระบบการศึกษาถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย การลงทุนในลักษณะนี้สามารถเพิ่มคุณภาพการศึกษาไทยในระดับสากลและช่วยให้มหาวิทยาลัยที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงินสามารถอยู่รอดได้