11 มีนาคม 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือ ผู้การแต้ม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567
หนึ่งในนั้นได้กำหนดปริมาณการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดเป็นการครอบครองเพื่อเสพให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ป่วย เนื่องจากเห็นว่า กฎกระทรวงดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงเตรียมจะยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ถอดถอนความเป็นรัฐมนตรีด้วยนั้น
นพ.ชลน่าน กล่าวยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่ได้กังวลแต่อย่างใด เพราะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดซึ่งก็พิสูจน์ในสิ่งที่ทำนั้นอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจหน้าที่ไว้ นอกจากนี้กระบวนการออกกฎกระทรวงก็ทำตามกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ไม่ได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจในการออกประกาศฉบับดังกล่าว และในการที่จะถอดถอนนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีอำนาจในการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
ทั้งนี้ ตนยินดีที่จะเข้าไปชี้แจงกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่รับข้อมูลไว้ หากนัดหมายมาตนก็พร้อมเข้าไปให้ข้อมูล พร้อมตอบข้อชี้แจงและข้อกล่าวหา โดยเฉพาะประเด็นที่ระบุว่า ไปออกกฎกระทรวงขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย คนครอบครองติดคุก คนเสพเท่านั้นถึงจะได้รับการบำบัดรักษา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ คำว่า "คนเสพที่ได้รับการบำบัดรักษา" หมายถึง ผู้ถือครองในปริมาณเล็กน้อยตามที่กฎหมายกำหนดถึงจะได้เข้ารับการบำบัดรักษา
นี่คือสิ่งที่เราจะชี้แจงและทำความเข้าใจได้ ขอยืนยันว่า เราไม่ได้อนุญาตให้ถือครองแต่ให้โอกาสในการเข้าสู่การบำบัด หากไม่เข้ารับการบำบัดจะติดคุก มีความผิดแต่หากสมัครใจก็รับบำบัดเมื่อบำบัดครบได้หนังสือรับรองถึงจะไม่มีความผิด
นพ.ชลน่าน กล่าวย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารให้ประชาชนให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายยาเสพติด ในการแยกผู้เสพเป็นผู้ป่วย เพื่อตัดวงจรการค้ารายย่อยซึ่งมีข้อมูลว่า มีผู้เสพอยู่กว่า 1.9 ล้านคนก็ให้โอกาสเข้าบำบัด ไม่ถูกตีตราเป็นคดีเมื่อสมัครใจเข้ารับการบำบัดครบตามกระบวนการ
ทั้งนี้ เราต้องสื่อสารเรื่องนี้ให้เข้าใจ คนที่เจตนาบิดเบือนเพื่อหวังผลประโยชน์อื่นเราก็ต้องพยายามต่อสู้ให้เขาเหล่านั้นกลับมาเห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมือง เห็นแก่ลูกหลาน เยาวชน ที่เราต้องแก้ปัญหาพร้อมให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับประชาชนโดยทั่วไปโดยเฉพาะสื่อมวลชน การสื่อสารนั้นหากสื่อสารโดยการพูดครึ่งเดียวก็จะทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้ง มินิธัญรักษ์ หรือ สถานบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน รวมถึงทำงานร่วมกับชุมชนนั้น ขณะนี้มีเกือบ 160 แห่งทั่วประเทศแล้วและมีผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาดเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา
ในส่วนของชุมชนล้อมรักษ์ ที่เพิ่งจะลงพื้นที่ไปที่ อ.ควนกาหลง จ.สตูล พบว่า มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษา 37 คน มีผู้ผ่านบำบัดและได้รับการรับรองแล้ว 5 คน โดย 2 ใน 5 ยืนยันว่า ตั้งใจและจะไม่กลับไปเสพซ้ำ และจะตั้งใจทำงาน