ผศ.ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า กองทุนประกันสังคม บริหารจัดการโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในปัจจุบันยังอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม จะต้องโปร่งใสและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้ประกันตน และควรแยก สปส. ออกมาให้มีความเป็นอิสระจากระบบราชการ
อาจจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมา โดยมีกฎหมายหรือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่แยกบทบาทการบริหารจัดการและงบประมาณออกมาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
ทั้งนี้ สปสช. ทำหน้าที่บริหารจัดการงบประมาณและดูแลสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือ 30 บาท) เป็นหน่วยงานที่แยกส่วนการทำงานออกมาจาก สธ. โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้รับบริการ-ผู้ซื้อบริการ ทำให้ สปสช. มีความชัดเจน และมีอิสระจากการควบคุมของระบบราชการ สปสช.ที่บริหารในรูปแบบคณะกรรมการ (บอร์ด) จึงสามารถจัดบริการทางสุขภาพที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้ง่ายและคล่องตัว และยังใช้งบประมาณต่อหัวของประชากรเป็นจำนวนไม่มากนัก
ผศ.ดร.ธร กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต คือ การเพิ่มสัดส่วนและดึงการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนให้เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการให้มากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความยั่งยืน ตลอดจนสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกันตน แต่แน่นอนว่าข้อเสนอนี้คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจาก สปส. ยังมีโครงสร้างของระบบราชการคอยกำกับไว้
สำหรับข้อเสนอโอนย้าย การจัดบริการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนจาก สปส. ให้ สปสช. ดูแลแทน โดยให้ สปส. ทำเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์และสวัสดิการทางสังคมอื่นๆ อาจทำให้ผู้ประกันตนไม่อยากจ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอีกต่อไป เพราะรากของปัญหาในท้ายที่สุด ประกันสังคมยังถูกระบบระเบียบราชการครอบไว้อีกขั้นหนึ่ง ทำให้มีอิสระในการตอบโจทย์ผู้ประกันตนไม่ชัดเจนและไม่เกิดบทบาทอย่างที่กองทุนนี้ควรจะเป็น
"ส่วนตัวเห็นว่า หากปฏิรูปให้ สปส. สามารถบริหารงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดดอกผล ผลประโยชน์ ขึ้นอีกมากมายในอนาคต โดยประกันสังคมจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศ ในเรื่องรายจ่ายสวัสดิการจากภาษี ช่วยแบกรับและอุดช่องโหว่ความขาดแคลน การเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของประชาชน ดังนั้น ประกันสังคมควรบริการจัดการสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้วยตนเอง ทว่าจะต้องมีความยืดหยุ่น ปรับตัว จนก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ"