สินค้าและบริการของไทยสยายปีกซีกตะวันตกของจีน (1)

08 ก.ค. 2566 | 07:30 น.

สินค้าและบริการของไทยสยายปีกซีกตะวันตกของจีน (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3902 หน้า 4

หายหน้าไปหลายสัปดาห์ หวังว่า FC คงไม่ว่ากัน พอดีผมเดินทางไปเคลียร์งานและถือโอกาสสำรวจตลาดในยุคหลังโควิดที่จีนต่อเนื่องเสียหลายวัน กะว่าจะนำเอาข้อมูลดีๆ มาอัพเดตกับทุกท่าน
ครั้นพอกลับถึงไทยก็มีงานรออยู่เพียบ

ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนจีน ที่มาร่วมประชุมนักธุรกิจจีนโพ้นทะเลโลก ซ้อนอยู่กับการจัดงานแข่งขันกีฬาบริดจ์ไทย-จีน การจัดเจรจาการค้าออนไลน์ และการสัมมนาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้สามารถจัดหาสินค้าจีนได้อย่างถูกวิธี ...

เรื่องแรกที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนกับทุกท่านก็คือ งานแสดงสินค้า Western China International Fair (WCIF) ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2566 ณ นครเฉิงตู เมืองเอกของมณฑลเสฉวน ซึ่งสำหรับผมแล้ว ถือว่านี่เป็นงานแสดงสินค้าที่ไทยขนทัพสินค้าและบริการครั้งใหญ่สุดนับแต่จีนเปิดประเทศหลังยุคโควิด-19 

ภายหลังพิธีเปิดงานแสดงสินค้า WCIF ในเช้าวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ผู้จัดงานฝ่ายไทยก็ได้รับเกียรติจากท่านพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา พร้อมด้วยท่าน เหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นำคณะผู้แทนของฝ่ายไทยและจีน ร่วมกันเปิดตัว “ศาลาไทย” (Thai Pavilion) ขนาด 780 ตารางเมตรอย่างสุดยิ่งใหญ่ 

ขณะเดียวกัน ก็มีบุคคลสำคัญมากมาย ทั้งส่วนที่เดินทางมาร่วมงานฯ จากประเทศไทย อาทิ เลขาธิการบีโอไอ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานี และรองผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 

ขณะที่ฝ่ายจีนก็มีบุคคลสำคัญมาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดศาลาไทย เช่น ท่านหวัง เสี่ยวฮุย เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ “เบอร์ 1” ของมณฑลเสฉวน และท่านหวง เฉียง รองเลขาธิการพรรคฯ และผู้ว่าการมณฑลเสฉวน “เบอร์ 1 สายบริหารของมณฑล” 

พร้อมด้วย ท่านหวัง โซ่วเหวิน รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ช่วยรัฐมนตรีและผู้แทนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จีน และท่านกัว เหว่ย รองเลขาธิการคณะมนตรีรัฐกิจจีน ที่บินตรงจากปักกิ่งมาร่วมงาน

สิ่งนี้สะท้อนถึง “มิตรภาพ” และความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างไทย และจีนผ่านงาน WCIF ในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมไทยจึง “จัดเต็ม” ในการเข้าร่วมงาน WCIF ในปีนี้ ผมคิดว่ามีเหตุผลสำคัญอยู่หลายประการ 

ประการหนึ่ง งานแสดงสินค้าซึ่งเป็นเวทีแรกๆ ของผู้ส่งออก กำลัง “ฟื้นคืนชีพ” การล็อกดาวน์เป็นระยะในช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้ช่องทางออฟไลน์ “ตายสนิท” อยู่นานหลายปี 

แต่ภายหลังการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่นาน รัฐบาลจีนก็กำหนดเป็นนโยบายให้ยกระดับงานออฟไลน์ให้กลับมา “กระชุ่มกระชวย” เหมือนในยุคก่อนโควิด 

งานแสดงสินค้านับเป็นหนึ่งในช่องทางออฟไลน์ที่ได้รับความสำคัญ ทำให้งานแสดงสินค้าในหลายหัวเมืองของจีนเต็มไปด้วยสีสันและคึกคักทันตาเห็น 

ก่อนหน้านี้ ผมก็ได้รับแจ้งว่า “ฮาร์บินแฟร์” งานแสดงสินค้ายอดนิยมในพื้นที่แถบอีสานจีน ก็มีผู้คนเยี่ยมชมงานอย่างหนาตาเช่นกัน

และในงาน WCIF ปีนี้ก็ “ไม่ผิดคาด” เช่นกัน กอปรกับความหลากหลายของสินค้า บริการ และกิจกรรมพิเศษของไทย ก็ทำให้พื้นที่ “ศาลาไทย” ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่โดดเด่น ได้รับความสนใจมากที่สุด จนหลายพาวิลเลียนใกล้เคียงแอบอิจฉา 

เพราะว่าใครก็ตามที่มาเดินในงานนี้ ก็มักไม่พลาดแวะไปเยี่ยมชม และเลือกซื้อหาสินค้าและบริการที่ “ศาลาไทย” กันทั้งนั้น

                         สินค้าและบริการของไทยสยายปีกซีกตะวันตกของจีน (1)

ต่อประเด็นนี้ ผมจึงอยากกระตุ้นเตือนให้ผู้ส่งออกไทยที่สนใจในตลาดจีน ได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าใหญ่ในจีน เพราะอะไรที่เป็นนโยบายของภาครัฐ ก็มักจะตามมาด้วย “พลังแฝง” ที่เป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งใหม่ของสินค้าและบริการของไทย

สำหรับผู้ส่งออกที่อยากไปร่วมงานแสดงสินค้าในจีน และหวังรายได้จาก “การขายปลีก” ก็ควรเตรียมช่องทางการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพราะหัวเมืองของจีนในปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) เกือบสมบูรณ์แล้ว 

เทคนิคอีกประการหนึ่งที่ควรวางแผนล่วงหน้าก็คือ การนำสินค้าที่มีความ “พิเศษ” ทั้งจากสินค้าภายในของบริษัท และจากภายนอกของคู่แข่งขันอาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะตลาดจีนมีความ “โปร่งใส” สูงมาก ผู้บริโภคจีนสามารถตรวจสอบความมีอยู่ของสินค้าและระดับราคาของสินค้าจากสมาร์ตโฟนได้ในชั่วกระพริบตา

ผู้ประกอบการจึงควรพยายามลดการแข่งขันโดยตรง พร้อมกับทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า สินค้าของเราเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษ และมีจำหน่ายเฉพาะในช่วงเวลางานแสดงสินค้าเท่านั้น เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ

แนวคิดดังกล่าวอาจนำไปประยุกต์ใช้ แม้กระทั่งการนำเสนอสินค้าในช่องทางออฟไลน์อื่น ผลจากการเติบโตของการค้าออนไลน์ และมีการทำโปรโมชั่นพิเศษแทบทุกเดือนในจีน ทำให้คนจีนส่วนใหญ่วางแผนการเลือกซื้อสินค้าทั่วไปเฉพาะในช่วงมีกิจกรรมไลฟ์สตรีม หรือช่วงลดราคาพิเศษ

ยิ่งพอเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปี ยังไม่อาจพลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมากนัก ทำให้ผู้บริโภคมี “ความอ่อนไหวต่อราคา” และมองหา “ความคุ้มค่า” มากขึ้น 

ตอนที่ผมไปสำรวจตลาดเมื่อเดือนก่อนนี้ ผมสังเกตเห็นว่า “ป้ายลดราคา” มีอิทธิพลต่อการจับจ่ายใช้สอยอย่างมากในปัจจุบัน คนจีนที่ไปเดินส่องสินค้าตามห้างสรรพสินค้า จะไม่ค่อยสนใจแวะเข้าร้านที่ไม่มีแคมเปญลดราคา หรือ ลดราคาไม่แรงพอ

ดังนั้น การออกแบบ “โครงสร้างราคา” ที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมิฉะนั้นแล้ว เราอาจไม่มี “ช่องว่างราคา” เหลือมากพอที่จะทำโปรโมชั่นได้

กำลังสนุกเลย แต่พื้นที่ผมหมดแล้ว คราวหน้าผมจะพาไปเจาะลึกในแง่มุมอื่นเกี่ยวกับงาน WCIF กันต่อครับ ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน