นอกเหนือจากการพัฒนาที่ผมเกริ่นในตอนก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อไม่กี่ปีก่อน จิ่งเต๋อเจิ้นยังจัดตั้ง “แพลตฟอร์มออนไลน์” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านการค้าเซรามิก โดยตั้งอยู่ในเซินเจิ้น เมืองเศรษฐกิจสำคัญของมณฑลกวางตุ้ง โดยตั้งเป้าว่าจะพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการค้าเซรามิก ที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านหยวน ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
แม้กระทั่งการโฆษณาด้านการท่องเที่ยว ก็ได้รับความใส่ใจจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยพยายามกระตุ้นการสื่อสารที่นำเสนอองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม และเสริมสร้างการกำกับดูแลอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีข้อความใดที่สื่อสารเป็นเท็จ
นอกจากสื่อดิจิตัลแล้ว การโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีความ “แม่นยำ” และ “ถูกตังค์” อาทิ วารสารเซรามิก และ เซรามิกอินโฟนิวส์ รวมถึงหนังสือพิมพ์เฉพาะทาง ก็ถูกใช้เพื่อขยายการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์เซรามิก ที่ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมเซรามิกจีน ไปจนถึงเซรามิกจิ่งเต๋อเจิ้น
สำหรับท่านผู้อ่านที่หลงใหลในการท่องเที่ยว แต่ก็อาจกังวลใจกับเรื่องที่พักและห้องน้ำ เวลาไปเที่ยวเมืองรองของจีน ผมก็ขอบอกว่า “หมดห่วง” ได้เลยครับ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งในเมืองแห่งนี้ ล้วนมีบริการห้องน้ำที่สะอาดและทันสมัยพร้อมให้บริการ
ขณะที่โรงแรมคุณภาพดีระดับ 3-5 ดาว ก็มีให้เลือกมากมาย ผมเองก็ยังแอบติดใจ “ไฮแอทเพลส” (Hyatt Place) ที่อยู่ห่างจากย่าน “เถาซื่อชวน” (Taoxichuan) เพียงแค่ถนนขั้นกลางเท่านั้น
ถนนศิลปะเซรามิกสร้างสรรค์ ตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางย่านเมืองใหม่ ภูมิทัศน์ และบรรยากาศของถนนศิลปะเซรามิกดังกล่าว คล้ายคลึงกับย่าน “ซินเทียนตี้” (Xintiandi) ในย่านผู่ซีของนครเซี่ยงไฮ้ ที่ปรับปรุงจากอาคารเก่า เพียงแต่พื้นที่ของเถาซื่อชวนใหญ่กว่าหลายสิบเท่า
กลับมาที่ไฮแอทเพลส โรงแรมหรูแห่งนี้ ออกแบบและตกแต่งโดย เดวิด ชิปเปอร์ฟิลด์ (David Chipperfield) สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษ ที่มีชื่อคล้าย “เดวิด คอปเปอร์ฟิลด์” (David Copperfield) นักมายากลระดับโลก และบริษัท เอไอเอ็มสถาปัตยกรรม จำกัด (AIM Architecture) ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของสถาปนิกต่างชาติ และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเซี่ยงไฮ้ เพื่อรองรับอุปสงค์ด้านการออกแบบมากมายในจีน
อาคารด้านนอกถูกออกแบบและตกแต่งด้วย “อิฐแดง” (ดังเช่นอาคารในย่านเมืองใหม่) เข้ากับสถาปัตยกรรม “เสาหิน” และ “กำแพงรั้วฉลุ” ที่ทำให้ดูไม่อึดอัดแต่ก็รักษาความเป็นส่วนตัวไว้ได้ ขณะที่การตกแต่งภายใน ก็อยู่บนแนวคิด “การเดินทาง” ผ่านประวัติศาสตร์ของเครื่องลายครามของจีน
เพราะเพียงก้าวแรกที่เข้าสู่พื้นที่ภายในของโรงแรม ผมก็ได้สัมผัสกับห้องโถงที่กว้างขวาง พร้อมเขาวงกตที่เรียบง่ายของแพลตฟอร์มในหินขัดสีแดง บนพื้นหลังสีพีชเพื่อให้เข้ากับเสาอิฐแดง ด้านบนก็ตกแต่งด้วยเซรามิกหลากสีคล้ายลาวา ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเตาเผาเซรามิกแบบดั้งเดิม และกระบวนการที่มาพร้อมกับการเผา
บริเวณล็อบบี้อุทิศให้กับต้นกําเนิดของวัสดุ ที่ใช้ในการผลิตเซรามิก พื้นที่นั่งเล่นจัดสรรให้กับกระบวนการผลิต ห้องจัดเลี้ยงสะท้อนการค้นพบทางเทคโนโลยี ร้านอาหารให้กับกระแสความนิยมในเซรามิก และพื้นที่สปาให้กับการก่อตัวของมรดกทางวัฒนธรรม
การออกแบบจึงมีลักษณะพิเศษที่ “ผสมผสาน” และ “ตัดกัน” ของพื้นผิวดินเผาที่หยาบกร้าน และยังไม่เสร็จกับความสลับซับซ้อนที่เปราะบางของเซรามิก พร้อมกับการนำเอาเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อน และเครื่องหนังสีน้ำตาลเข้มมาเชื่อมโยงให้ดูอบอุ่น
การตกแต่งยังใช้เซรามิกและไฟสีน้ำเงินและเขียวเข้ม ที่มันวาวเป็นลูกเล่นได้อย่างลงตัว สร้างมุมถ่ายภาพในพื้นที่ต่างๆ ของโรงแรมเอาไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโถงทางเดินหน้าลิฟท์ ซึ่งสอดคล้องกับ “จริต” ของคนรุ่นใหม่ที่ชอบ “แชะแล้วแชร์” ได้เป็นอย่างดี
ในการตกแต่งภายในของร้านอาหาร พื้นหลังสถาปัตยกรรมดินเผาถูกจับคู่กับโทนสีฟ้าเข้ม มีเพดานสีเข้มที่มาพร้อมกับลวดลายกระเบื้อง โต๊ะรับประทานอาหารหลากประเภท และขนาดที่สามารถต้อนรับแขกที่มาเยือนได้อย่างเหมาะเจาะ
สำหรับห้องพักก็ดูเกือบจะเป็นขาวดํา ที่มีเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอ่อนเป็นองค์ประกอบ สอดรับกับบริบทของสถาปัตยกรรมดินเผาของคอมเพล็กซ์ พร้อมติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะมากมาย
กอปรกับความใส่ใจในรายละเอียดและบริการโดยรวมที่ “เนี้ยบ” และ “เป็นมืออาชีพ” ในทุกอณูตั้งแต่การเช็กอิน ห้องพัก ร้านอาหารและมุมเครื่องดื่ม ไปจนถึงแกลลอรีแสดงภาพศิลป์ และมุมพักผ่อนหย่อนใจ ทำให้ การมาพักค้างคืนที่โรงแรมแห่งนี้ช่วยทำให้ “เพลิดเพลิน” ดั่งต้องเวทมนตร์ “ชาร์จแบต” พลังกาย และ “ตกหลุมรัก” ในเมืองจิ่นเต๋อเจิ้นมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ผมจึงมองว่า การใส่ใจกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงศิลปะอย่างเป็นระบบและจริงจัง นอกจากทำให้มรดกทางวัฒนธรรมของจิ่งเต๋อเจิ้น ได้รับการสืบสานและต่อยอดแล้ว ยังทำให้อุตสาหกรรมเซรามิก มีคุณภาพสูงตามไปด้วย
การบูรณาการดังกล่าว ทำให้ศิลปะวัฒนธรรมของจิ่นเต๋อเจิ้น เปี่ยมด้วยความน่าสนใจในสายตาของนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาทางสังคมของท้องถิ่น และเผยแพร่วัฒนธรรมออกไปนอกพื้นที่ไปพร้อมกันได้อย่างแท้จริง
อีกประเด็นสำคัญหนึ่งก็คือ โดยที่มีสภาพเป็นเมืองขนาดเล็กทางตอนเหนือของมณฑลเจียงซี ที่ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แถมยังตั้งอยู่ห่างจากสนามบินระหว่างประเทศในหัวเมืองสำคัญของจีน โดยสนามบินระหว่างประเทศที่ใกล้ที่สุดของนครหางโจว ก็ใช้เวลาเดินทางราว 2 ชั่วโมง เดินทางโดยรถไฟความเร็วสูง ทำให้จิ่งเต๋อเจิ้นโดยลำพังอาจเป็นเพียง “แม่เหล็ก” ตัวเล็กที่มีพลังไม่มากพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนอกพื้นที่ได้มากนัก
จึงเกิดคำถามตามมาว่า หากเราบากบั่นเดินทางไปถึงจิ่งเต๋อเจิ้นแล้ว พอจะมีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรอื่น ที่สุดพิเศษในพื้นที่ใกล้เคียงอีกบ้างไหม
ภายหลังความรุดหน้าในการพัฒนา “กลุ่มเมือง” ที่เชื่อมโยงหัวเมืองในย่านนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผมพบว่า ในรัศมี 1-4 ชั่วโมงขับรถจากจิ่งเต๋อเจิ้น ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำมากมาย ยกตัวอย่างเช่น หวงหลิ่ง (Huangling) หมู่บ้านโบราณในหุบเขาที่มีชื่อเสียงที่สุดในอำเภออู้หยวน (Wuyuan) เมืองซ่างเหรา (Shangrao)
หมู่บ้านหวงหลิ่งยังคงรักษาอัตลักษณ์ของคนท้องถิ่นเอาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น การออกแบบก่อสร้างบ้านเรือน และอื่นๆ อาทิ การนำเอาพืชผลหลากสีสันใส่กระจาดออกมาตากแดดบนหลังคาสูงที่ลดหลั่นกันไปตามเนินเขา จนคนไทยนิยมเรียกกันว่า “หมู่บ้านตากพริก”
สำหรับคนที่เดินเก่งและชอบถ่ายภาพ ท่านสามารถใช้เวลาชิลล์ๆ ที่หมู่บ้านโบราณนี้ได้ทั้งวัน ... ชิมอาหารท้องถิ่น จิบน้ำชา-กาแฟ แกล้มลูกพลับแห้งอันขึ้นชื่อของหมู่บ้าน และอาจไปพิสูจน์ความกล้าที่ “สะพานกระจก” ท่ามกลางความงดงามของหุบเขาในหมู่บ้านได้ ยิ่งถ้าไปในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ท่านก็ยังจะสามารถเห็นทุ่งดอกไม้ที่บานสะพรั่งเต็มขุนเขาได้อีกด้วย
ผมจะพาไปส่องสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงจิ่งเต๋อเจิ้นในตอนหน้าครับ ...