วันนี้ผมอยากชวนคุยเรื่องการบริหารจัดการ “ของเสีย” ของอุตสาหกรรมเซรามิก และเพียงการเรียนลัดวิธีการแก้ไขปัญหา “ขยะเซรามิก” ของจิ่งเต๋อเจิ้ง ก็อาจทำให้ภาคการผลิตและการส่งออกของไทยได้รับประโยชน์มากมาย ...
ขยะเซรามิกถือเป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมเซรามิกของจีน ที่ไม่ควรมองข้าม ในฐานะผู้ผลิตเซรามิกมากที่สุดในโลก ที่มีปริมาณราว 18 ล้านตันต่อปี เฉพาะเครื่องสุขภัณฑ์จีนก็ผลิตในจำนวนกว่า 220 ล้านชิ้น และเซรามิกที่ใช้ในชีวิตประจำวันอีกราว 50,000 ล้านชิ้นต่อปี โดยภูมิภาคตอนกลางเป็นฐานการผลิตเซรามิกที่สำคัญของจีน และมณฑลเจียงซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น ก็เป็นแหล่งผลิตเซรามิกอันดับต้นๆ ของจีน
อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตที่จำกัดในอดีต การเผาเซรามิกมีอัตราความสำเร็จเพียง 30% ทำให้อุตสาหกรรมเซรามิกผลิตขยะเซรามิกจำนวนมหาศาลในแต่ละปีเช่นกัน นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมเซรามิก ไม่เพียงสร้างความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังก่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในอีกทางหนึ่งอีกด้วย
โดยทั่วไปแล้ว ดินขาวเมื่อผ่านการเผาด้วยอุณหภูมิสูง ทำให้เซรามิกมีความแข็งสูง ยากต่อการทำลายและใช้เวลานานในการย่อยสลาย แถมสารเคลือบเซรามิก บางส่วนก็มีสารเคมีอันตรายที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน เซรามิกยังมีน้ำหนักมาก และเมื่อแตกหักก็มีความแหลมคม เป็นภาระและอันตรายในการขนส่ง
ผมไปค้นดูข้อมูลพบว่า ในอดีต ขยะเซรามิกเคยถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตท่อระบายน้ำในหลายรัชสมัย แต่ก็ไม่อาจลดปริมาณขยะเซรามิกได้มากพอ
และด้วยข้อจำกัดในการขจัดขยะดังกล่าวที่มีปริมาณมาก ผู้ที่เกี่ยวข้องก็เลือกใช้วิธีการฝังกลบที่ง่าย สะดวก และประหยัด เราจึงเห็นขยะเซรามิกจำนวนมากถูกนำไปฝังกลบในพื้นที่ลุ่มต่ำของเมือง เพื่อป้องกันน้ำท่วมน้ำขังในเวลาต่อมา
อย่างไรก็ดี แม้ว่าพื้นที่ฝังกลบบางส่วนถูกนำไปใช้ประโยชน์ โดยพัฒนาเป็นพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัย แต่การกำจัดขยะด้วยวิธีการดังกล่าวก็อาจก่อให้เกิดผลพิษทางอากาศ และปนเปื้อนคุณภาพน้ำใต้ดินในระยะยาวได้
ท่ามกลางการเติบใหญ่ของอุตสาหกรรมเซรามิกของจิ่งเต๋อเจิ้นในยุคหลัง ปริมาณขยะเซรามิกก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว “ภูเขาเศษเซรามิก” ใกล้เตาเผาขนาดใหญ่ก็ใหญ่ขึ้นจนชินตา ขณะที่ “กองขยะเซรามิก” ในและนอกถังขยะสาธารณะของเมืองที่รกสายตา ก็กระจายอยู่ทั่วเมือง
อัตราความสำเร็จในการผลิตเซรามิกที่ต่ำ นอกจากทำให้เกิดขยะเซรามิกเป็นจำนวนมากแล้ว ยังเป็นภาระในการกำจัดและก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังส่งผลให้ระดับผลตอบแทนในการลงทุนที่ต่ำ
เฉพาะจิ่งเต๋อเจิ้นเพียงแห่งเดียว ราว 40% ของจำนวนประชากรเกี่ยวข้องกับเซรามิก และผลิตขยะเซรามิกกว่า 60,000 ตันต่อปี คิดเป็นเกือบ 20% ของปริมาณขยะเซรามิกโดยรวมของจีน แต่กลับไม่มีระบบการจัดการขยะดังกล่าวอย่างยั่งยืนแต่อย่างใด
อาจกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมเซรามิกยุคใหม่ของจิ่งเต๋อเจิ้น เริ่มขึ้นในปี 2019 เมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้จัดตั้ง “เขตทดลองมรดกวัฒนธรรมเซรามิกและนวัตกรรมแห่งชาติ” (National Ceramic Culture Inheritance and Innovation Experimental Zone) ขึ้นในจิ่งเต๋อเจิ้น เพื่อบูรณาการนวัตกรรมของงานฝีมือเซรามิกร่วมสมัย บนพื้นฐานของการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม
การดึงเอาโรงงานผลิตเซรามิกและธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้มาอยู่ใกล้ชิดติดกัน ยังก่อประโยชน์ในมิติด้านอื่น อาทิ การช่วยให้ผู้ผลิตสามารถเรียนรู้ และบูรณาการเทคโนโลยีการผลิตระหว่างกันได้อย่างสะดวก ขณะที่เศษเซรามิกที่เกิดขึ้น ก็ถูกรวบรวมและนำกลับไปใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จิ่งเต๋อเจิ้นเลือกที่จะกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวใน “เชิงรุก” โดยพยายามเรียนลัดจากการการดำเนินงานของเมืองอื่น อาทิ กรุงปักกิ่ง (Beijing) และ เมืองเฉาโจว (Chaozhou) หรือแต้จิ๋วในมณฑลกวางตุ้งที่คนไทยรู้จัก และนำความรู้และผลงานวิจัยจากกูรูทั้งจีนและเทศมาต่อยอดและประยุกต์ใช้ในหลายด้านตลอด “ทั้งระบบนิเวศ” ในเวลาต่อมา
ในทางปฏิบัติ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะและส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเซรามิกของเมือง จิ่งเต๋อเจิ้นแก้ไขปัญหา “ขยะเซรามิก” ดังกล่าวโดยผสมผสานระหว่างประเพณีโบราณ ความสร้างสรรค์ และนวัตกรรมสมัยใหม่ผ่านหลากหลายมาตรการ ดังนี้
1.การลดปริมาณขยะในกระบวนการผลิต วิธีการนี้ช่วยแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ โดยให้โรงงานและเตาเผาเซรามิกในจิ่งเต๋อเจิ้น นำเอาเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มาใช้ยกระดับมาตรฐานการผลิต ลดข้อผิดพลาด และควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้า เพื่อลดการสูญเสียและมีของเสียให้น้อยที่สุด
เตาเผาจำนวนหลายพันแห่งในเมือง ที่แต่เดิมใช้ฟืนและถ่านหินเป็นเชื้อเพลังก็ถูกปรับเปลี่ยนไปใช้ก๊าซและไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดการเกิดมลพิษในชั้นบรรยากาศ และรักษาระดับอุณหภูมิได้แม่นยำยิ่งขึ้น ผ่านอุปกรณ์ควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สามารถปรับปรุงผลผลิต ประหยัดทรัพยากร และลดการใช้แรงงานได้อีกด้วย
2.การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการรีไซเคิล เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเซรามิกสู่อุตสาหกรรมคุณภาพสูง ที่มีคุณภาพสูง ผลตอบแทนมาก และดีต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลท้องถิ่นได้ผลักดันการวิจัยและพัฒนาการรีไซเคิลเศษเซรามิก ด้วยวิธีการและรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจับมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย รวมทั้งองค์กรเอกชนชั้นนำ
อาทิ อี้ ดีไซน์ (Yi Design) เพื่อพัฒนานวัตกรรมในการจัดการขยะเซรามิกอย่างยั่งยืน (ผมขอเก็บส่วนหลังนี้ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจในหลายมิติไปแลกเปลี่ยนกันในตอนหน้า) แถมบางรายยังเริ่มนำเอาอุปกรณ์การพิมพ์ 3 มิติ (3-D Printing) ขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตกันแล้ว
3.การรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้วิธีการบดเศษเซรามิก ที่ไม่ได้ใช้ หรือที่เสียหายเป็นผง และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่ ซึ่งช่วยลดการใช้วัตถุดิบใหม่ ลดปริมาณขยะ และเปิดโอกาสให้นักออกแบบและช่างฝีมือในจิ่งเต๋อเจิ้ง สามารถนำขยะเซรามิกมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์ หรือ ผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น กระถางต้นไม้ ของตกแต่งบ้าน และเครื่องประดับ
ผู้ที่เกี่ยวข้องยังนำเศษเซรามิกไปใช้ประโยชน์อื่น อาทิ เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยนำเอาเศษเซรามิกไปใช้เป็นส่วนผสมในวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต หรือ อิฐ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและลดการใช้วัตถุดิบธรรมชาติ และการตกแต่งสวนหรือทางเดิน เช่น การปูพื้นด้วยเศษเซรามิกสีสันต่างๆ
จิ่งเต๋อเจิ้นยังแก้ไขปัญหาขยะเซรามิกในมิติอื่นอย่างสร้างสรรค์ แต่ขอไปคุยกันต่อตอนหน้าครับ ...