รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (2)

25 ม.ค. 2568 | 06:30 น.

รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4064

เราไปคุยกันต่อเลยว่า จิ่งเต๋อเจิ้นทำอะไรอีกบ้างในความพยายามที่จะพลิกฟื้นเมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือของมณฑลที่เคยยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของจีน ไปสู่เมืองหลวงแห่งเซรามิกที่ล้ำสมัยของโลก ...

กลับมาที่ประเด็นความเป็น “เมืองหลวงแห่งเครื่องเคลือบดินเผา” จิ่งเต๋อเจิ้นมีทรัพยากรธรรมชาติที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินขาว และรายรอบไปด้วยป่าไม้สน ซึ่งใช้เป็นฟืนสำหรับเตาเผา รวมทั้งยังมีสายน้ำใหญ่ที่ไหลผ่านจากเหนือลงใต้ ช่วยให้สามารถขนส่งสินค้าที่มีความเปราะบาง ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดอ่อนได้อย่างสะดวก

ด้วยเทคนิคการผลิตที่เผาในอุณหภูมิสูง ทำให้ได้เครื่องเคลือบดินเผาที่บาง มีเนื้อแข็ง และก้องกังวาล ส่งผลให้จิ่งเต๋อเจิ้นมีชื่อเสียงโด่งดังแต่ครั้งในอดีต 

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่า การผลิตย้อนกลับไปถึงสมัยราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty) ถึงจุดสูงสุดในสมัยราชวงศ์ซ่ง (Song) และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในสมัยราชวงศ์หมิง (Ming) และ ชิง (Qing) ทำให้เมืองนี้กลายเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบดินเผาหลักแห่งหนึ่งของจีน 

ทั้งนี้ ในสมัยราชวงศ์หมิง เตาเผาอย่างเป็นทางการในจิ่งเต๋อเจิ้น อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของฮ่องเต้ โดยถูกใช้เพื่อผลิต “เครื่องเคลือบดินเผาส่วนพระองค์” ในปริมาณมาก เพื่อถวายให้แก่ราชสำนัก และฮ่องเต้เป็นของขวัญ

ในเวลาต่อมา จิ่งเต๋อเจิ้นก็เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้น และเครื่องเคลือบดินเผาคุณภาพสูงหลากหลายชนิดสำหรับตลาดจีนและต่างประเทศ อาทิ เครื่องเคลือบดินเผาสีน้ำเงิน-ขาว เซรามิกวางดอกไม้ “Famille Rose” และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารราคาถูกในปริมาณมาก รวมถึงของตกแต่งที่มีราคาแพง 

ในช่วงปฏิวัติทางวัฒนธรรมของจีนราวปี 1966-1976 จิ่งเต๋อเจิ้นต้องเผชิญกับการปฏิรูปแบบชาตินิยม เพื่อมุ่งเป้าสู่ความทันสมัย แต่ก็ยังคงรักษาสถานะของการเป็นแหล่งผลิตสำคัญเอาไว้ได้ โดยผลิตเครื่องเคลือบดินเผารูปภาพ และรูปปั้นในท่านั่งของท่านประธานเหมา เจ๋อตงเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งนักเล่นของเก่าในยุคหลัง ก็นิยมหาไว้สะสมและเก็งกำไร

ไม่เพียงเท่านั้น ความโด่งดังของเครื่องเคลือบดินเผาของจิ่งเต๋อเจิ้นทำให้ผู้คนจากทั่วโลก หวังจะเป็นเจ้าของเครื่องลายครามจิ่งเต๋อเจิ้น เคยถูกประมูลด้วยราคาสูงเป็นประวัติการณ์ โดยโถลายครามสีน้ำเงิน-ขาว ที่ผลิตในสมัยราชวงศ์หยวน และถ้วยลายครามที่ผลิตในสมัยราชวงศ์หมิง ถูกประมูลที่กรุงลอนดอน ในราคา 27.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2005 และ 36.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2014 ตามลำดับ

แต่รัฐบาลในพื้นที่ก็มิได้นิ่งนอนใจกับ “แต้มต่อ” ที่เหนือกว่าของพื้นที่อื่น กอปรกับสภาพของอุตสาหกรรมเซรามิก ที่เติบโตในอัตราที่ต่ำในช่วงหลายปีหลัง ทำให้รัฐบาลและเอกชนท้องถิ่นเดินหน้าปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งใหญ่โดยประสาน “วัฒนธรรมเซรามิก” เข้ากับ “นวัตกรรม” บนพื้นฐานของกลไกตลาดเสรี วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความยั่งยืน 

ในการนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มุ่งพัฒนา “ระบบนิเวศ” อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ทำให้เป็นโอกาสให้เมืองแห่งนี้สามารถต่อยอด “มรดก” ของอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผาสู่ยุคใหม่ได้อีกครั้ง

ในส่วนของต้นน้ำ รัฐบาลจิ่งเต๋อเจิ้นตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มนุษย์สร้างขึ้น และที่สร้างความประทับใจให้ผู้คนที่ไปเยือนมากที่สุด ก็น่าจะได้แก่ โครงการพัฒนา “เมืองใหม่”  

จากคำบอกเล่า ผมได้รับทราบว่า โครงการนี้เกิดขึ้นจริงจังในช่วงวิกฤติโควิด เมื่อราว 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยออกแบบและปรับเปลี่ยนโกดังเตาเผา และปล่องไฟของโรงงานผลิตเครื่องเคลือบดินเผาโบราณส่วนหนึ่งให้เป็นพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ย่านวัฒนธรรม ถนนเซรามิก และอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 

                   รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (2)

อาคารน้อยใหญ่และสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนหลายร้อยจุดในย่านเมืองใหม่ ถูกออกแบบและห่อหุ้มด้วย “อิฐมอญ” ได้อย่างเตะตา ตอนเห็นพื้นที่เมืองใหม่ทีแรก ผมยังนึกอยู่ว่า จีนก่อสร้างอาคารมากมายด้วยอิฐมอญในเวลาอันสั้นได้อย่างไร แต่พอไปส่องดูในรายละเอียดก็พบว่า โครงการใช้กระเบื้องลายนูนที่มีเนื้ออิฐมอญมาใช้ในการก่อสร้าง เพราะถ้าขืนใช้การก่ออิฐมอญทีละก้อน ก็คงใช้แรงงานฝีมือและระยะเวลาในการก่อสร้าง 

เครื่องเคลือบดินเผายังถูกใช้ในการตกแต่งเมืองในหลายจุด แม้กระทั่งเสาไฟฟ้า ป้ายรถประจำทาง และจุดถ่ายภาพที่อยู่สองฝากฝั่งถนนหนทางในเมือง ก็ถูกตกแต่งห่อหุ้มด้วยเซรามิก เพื่อตอกย้ำความเป็นเมืองหลวงแห่งเครื่องเคลือบดินเผาของจีน 

รัฐบาลจีนยังได้ลงทุนปรับปรุงพิพิธภัณฑ์เซรามิกจิ่งเต๋อเจิ้น (Jingdezhen Ceramics Museum) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1979 ซึ่งถือได้ว่า เป็นโครงการแรกๆ ในยุคหลังปิดเประเทศสู่โลกภายนอกครั้งใหม่ของจีน เพื่อช่วยเก็บรักษาและสร้างอารมณ์ร่วมส่งผ่านไปยังอนุชนรุ่นหลัง

ภายหลังถูกปรับโฉมและวิธีการนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมผลงานเซรามิก ที่มีชื่อเสียงจากหลายยุคหลายสมัยของประวัติศาสตร์จีนเอาไว้มากกว่า 20,000 ชิ้นในปัจจุบัน ในจำนวนนี้เป็นโบราณวัตถุอันล้ำค่าของจีนมากกว่า 500 ชิ้น แถมยังมีเครื่องลายครามจากต่างประเทศ รวมไปถึงเครื่องเซรามิกจิ่งเต๋อเจิ้นสมัยใหม่และร่วมสมัย ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ ความสร้างสรรค์ และคุณภาพชั้นยอด

สำหรับผมแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ควรเป็นแห่งแรกที่คอเซรามิกควรไปเยือนชนิดพลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะเราสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์กว่าพันปีของจิ่นเต๋อจิ้น ผ่านการนำเสนอชิ้นงานในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ผมขอเรียนเตือนไว้ก่อนว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ปิดในทุกวันจันทร์นะครับ

และเพื่อให้ได้ชื่นชมและรับรู้เกร็ดของจิ่งเต๋อเจิ้น ผ่านชิ้นงานชั้นยอดจำนวนมากดังกล่าว ผมแนะนำให้ท่านผู้อ่านขยันเดินและขยันอ่านหน่อย เพราะแต่ละจุดจะมีข้อมูลแนะนำชิ้นงานดังกล่าวซ่อนเอาไว้ให้มากมาย 

ท่านผู้สนใจควรจัดเวลาเยี่ยมชมไว้มากหน่อย อย่างน้อยสักครึ่งวัน ยิ่งถ้าไม่มีนัดหมาย หรือภารกิจสำคัญอะไรได้ก็ยิ่งดี เพราะยิ่งเดินไปก็มีชิ้นงานน้อยใหญ่อยู่ในมุมต่างๆ เต็มไปหมด และควรเลือกใส่รองเท้าคู่ใจที่สบายเท้าไปนะครับ
กำลังสนุกเลย แต่ต้องตามไปอ่านต่อตอนหน้าครับ ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน