รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (5)

12 ก.พ. 2568 | 07:00 น.

รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (5) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4070

นอกเหนือจากการดำเนินมาตรการในการแก้ไขปัญหาขยะเซรามิก อย่างเป็นระบบและรอบด้านแล้ว จิ่งเต๋อเจิ้น ยังเดินหน้าอีกหลายมาตรการ ไปคุยกันต่อเลยครับ 

4.การจัดการขยะในชุมชน โดยการกำหนดจุดรับขยะเซรามิกเฉพาะ “ถังขยะสีเขียว” เพื่อง่ายต่อการเก็บรวบรวม และนำกลับไปรีไซเคิ้ลด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสม

5.นโยบายและกฎหมายสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจิ่งเต๋อเจิ่นได้ออกกฎหมายควบคุมการปล่อยของเสีย และบังคับใช้กฏหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด สิ่งนี้ทำให้สามารถควบคุมการปล่อยของเสียของโรงงานผลิตเซรามิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว โดยให้โรงงาน และนักออกแบบใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนต่ำ และลดการใช้สารเคมีอันตราย

6.การปลูกจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลและองค์กรท้องถิ่น ร่วมมือกันรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ และการรีไซเคิลเศษเซรามิก แก่ผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นมาตรการที่สร้างประโยชน์ในวงกว้างอย่างคาดไม่ถึงก็ได้แก่ การขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน และระหว่างภาคเอกชนอย่างสร้างสรรค์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นได้พยายามพัฒนาความร่วมมือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยเดินหน้าการจัดระเบียบวิธีการบริหารจัดการขยะเซรามิก ขึ้น ที่ช่วยให้อุตสาหกรรมเซรามิกเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น 

หนึ่งในโครงการใหญ่ที่เห็นเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน ก็ได้แก่ “โครงการรีไซเคิ้ลขยะเซรามิกอย่างยั่งยืน” ซึ่งริเริ่มขึ้น เมื่อปี 2021 โดยรัฐบาลท้องถิ่นได้ร่วมมือกับ “อี้ ดีไซน์” (Yi Design) ผู้เชี่ยวชาญในการเปลี่ยนเซรามิกให้เป็นวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืน

Yi Design ได้พัฒนานวัตกรรมกระเบื้องและอิฐรีไซเคิ้ลคุณภาพสูงที่หรูหราและทนทาน โดยใช้เศษเซรามิกในการผลิตในสัดส่วน 70-100% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของตลาดในปัจจุบัน คิดค้นวัสดุยึดเกาะใหม่ทดแทนการใช้ปูนซิเมนต์และกาว และยังแฝงไว้ซึ่งงานศิลป์และสุนทรียศาสตร์ที่มีทรัพย์สินทางปัญญาจำนวน 4 ประเภท ภายใต้แบรนด์ “YiTile” และ “YiBrick” เป็นต้น 

ที่ผ่านมา นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมากมาย อาทิ รางวัล BLT Built Design Awards 2022 รางวัล Red Dot Awards 2022 รางวัล Kering Generation Award 2023 และรางวัล Dezeen Awards 2023 

การสร้างย่านเมืองใหม่ของจิ่งเต๋อเจิ้น ที่ผมเล่าให้ฟังไปเมื่อหลายตอนก่อน ก็ใช้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์กระเบื้อง และอิฐรีไซเคิ้ลเหล่านี้มาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างและตกแต่งอย่างกว้างขวาง 

นอกจากประโยชน์จากการช่วยลดปริมาณขยะ ด้วยวิธีการนำกลับมาใช้ใหม่ได้จำนวนมหาศาล และสร้างอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองหลวงแห่งเครื่องเคลือบดินเผาแล้ว กระเบื้องและอิฐรีไซเคิ้ล ยังมีคุณสมบัติพิเศษหลายประการ อาทิ ความสามารถในการซึมผ่าน และการกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี เมื่อถูกใช้เป็นวัสดุก่อสร้างภายในเมือง 

อิฐรีไซเคิ้ลเหล่านี้ ก็ยังสามารถดูดซับน้ำที่ควบแน่นได้เมื่ออุณหภูมิเย็นลง ข้อมูลของบริษัทระบุว่า อิฐแต่ละก้อนสามารถเก็บน้ำได้ราว 200 มิลลิลิตร เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นและอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำที่กักเก็บไว้ในอิฐจะระเหยออกมา ช่วยให้สภาพอากาศภายในเมืองเย็นลง 

ขณะเดียวกัน การใช้กระเบื้องและอิฐรีไซเคิ้ลที่มี “รูพรุน” ปูพื้นผิวทางเดินแทนการใช้ปูนซิเมนต์ จะเหมาะสำหรับแนวคิดในการพัฒนา “เมืองฟองน้ำ” เพราะกระเบื้องและอิฐช่วยให้น้ำฝนซึมผ่านลงสู่ผืนดิน ซึ่งช่วยเก็บน้ำฝนและนำกลับมาใช้งานกลางแจ้งและสวนสาธารณะในเขตเมืองได้

                     รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (5)

นอกจากนี้ ผู้ผลิตเซรามิกภายในนิคมอุตสาหกรรมยังพัฒนาความร่วมมือในการสร้างโซลูชั่นผ่าน “ระบบหมุนเวียน” สําหรับอุตสาหกรรมการตกแต่งภายในและสถาปัตยกรรม โดยการนำเศษเซรามิกกลับมาผลิตเป็นกระเบื้องและอิฐตกแต่งใหม่ได้อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ 

จากข้อมูลพบว่า จนถึงปัจจุบัน Yi Design ได้ขยายความร่วมมือกับโรงงานเซรามิกมากกว่า 60 แห่ง และสตูดิโอเซรามิกอีกกว่า 40 แห่งเพื่อรวบรวมขยะเซรามิกมากกว่า 5,000 ตัน ไปใช้ในกระบวนการรีไซเคิ้ล ซึ่งนำไปสู่การประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษในวงกว้างอีกด้วย

Yi Design ยังกระจายการใช้เทคโนโลยีการปกป้องสิ่งแวดล้อม แก่ผู้ประกอบการนอกพื้นที่อีกด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทได้ออกแบบและจำหน่ายผลิตภัณฑ์รีไซเคิ้ลเหล่านี้ไปยังลูกค้าและสถาบันในหลายโครงการ ทั้งใน และต่างประเทศ

อาทิ ผนังกระเบื้องของร้านจำหน่ายสินค้าแฟชั่นชั้นนำ “คอส” (COS) ในห้างสรรพสินค้าเซ็นจูรี่พลาซ่า (Century Plaza) ใจกลางนครเซี่ยงไฮ้ ขณะที่อิฐรีไซเคิ้ล ยังถูกนำไปใช้ในพื้นที่กลางแจ้งของอาคารชุมชนภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยถงจี้ (Tongji) และ ร้านกาแฟสตาร์บักส์ (Starbucks) ในเซี่ยงไฮ้ ท่านผู้อ่านที่มีโอกาสแวะเวียนไปเซี่ยงไฮ้ ก็อาจหาเวลาไปชื่นชมผลงานดังกล่าวได้ครับ

นี่อาจเป็นเพียง “ก้าวแรก” ของความสำเร็จเท่านั้น เพราะ Yi Design มองไกลถึงการเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมของผู้คนในสังคมให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเคารพและปกป้องสิ่งแวดล้อม  

คำสัมภาษณ์ของผู้ร่วมก่อตั้ง Yi Design ท่อนหนึ่งระบุว่า บรัษัทฯ ยังวางแผนพัฒนานวัตกรรมต่อไปอีกขั้นหนึ่ง โดยมุ่งเป้าลดต้นทุนการผลิตและขยายการผลิตเพื่อเข้าสู่ตลาดแมสส์ในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสีเขียว และความรุดหน้าของอุตสาหกรรมเซรามิกอีกด้วย

                    รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (5)

นอกจากนี้ Yi Design ยังจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เพื่อถ่ายทอดความรู้เชิงลึก ในการจีดการขยะเซรามิกแก่ผู้ประกอบการในโครงการ ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ ทุ่มเทไปกับการคิดออกแบบและผลิตชิ้นงาน ก่อนนำไปจัดแสดงและจำหน่ายในช่วงวันหยุด 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณตลาดเครื่องปั้นดินเผาสร้างสรรค์เล่อเทียน (Letian Pottery Creative Market) ในย่านเมืองใหม่ ที่ท่านผู้อ่านใม่ควรพลาดหากมีโอกาสไปเยือนจิ่งเต๋อเจิ้น เพราะผมเชื่อมั่นว่าท่านจะกลับพร้อมกับความประทับใจอย่างแน่นอน

เห็นผลสัมฤทธิ์จากความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชนผ่านกรณีศึกษาของ Yi Design แล้วก็สะท้อนว่า เราไม่อาจมองข้าม “พลังแห่งความมุ่งมั่นและนวัตกรรม” ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและจิตใจ ให้เกิดขึ้นได้อย่างหลากหลายมิติ และเป็นรูปธรรม ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน