ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งการหดตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ เป็นครั้งแรกในรอบ 21 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ท่ามกลางการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงถึง 89% ต่อ GDP คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทาง และนโยบายของสถาบันการเงินไทย กลับดูเหมือนจะยังคงยึดติดกับแนวทางการกำกับดูแลแบบอนุรักษ์นิยมมากเกินไป
ต้องยอมรับว่า ตัวเลขสินเชื่อที่หดตัวครั้งแรกในรอบ 21 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2567 กำลังส่งสัญญาณอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการที่สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินลดลง 0.04% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567
ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ (NIM) ในระดับสูงถึง 3.24% สะท้อนให้เห็นว่า สถาบันการเงินยังคงรักษาส่วนต่างกำไรได้ดี แต่กลับไม่กล้าปล่อยสินเชื่อเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ยิ่งไปกว่านั้น การที่รายได้ของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 6.66% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 แต่สินเชื่อ SMEs กลับหดตัวถึง 3.04% สะท้อนให้เห็นความไม่สมดุลในระบบการเงินไทย ที่สถาบันการเงินมีผลประกอบการดี แต่ภาคธุรกิจจริงกลับเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก
อีกสถานการณ์ที่น่าวิตกของระบบสินเชื่อไทย คือ ในภาคธุรกิจ SMEs ที่พบว่า สินเชื่อหดตัวถึง 3.04% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยมีการหดตัวรุนแรงในสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ สาขาการผลิต และสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ ท่ามกลางการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
ขณะที่ภาคครัวเรือน สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน เมื่อพบว่าสินเชื่อภาคครัวเรือนลดลง 2.84% โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ท่ามกลางภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 89.0% ต่อ GDP
มีเพียงสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่กลับมาขยายตัว 1.58% เทียบกับการลดลง 1.63% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของเงินให้กู้ยืมในสาขาการเงินและการประกันภัย สาขาการผลิต และ สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์
ด้านคุณภาพสินเชื่อแม้ NPL จะลดลงมาอยู่ที่ 2.78% สะท้อนความสำเร็จในการบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ และการที่ลูกหนี้บางส่วนสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ที่น่ากังวลคือ การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ Stage 2 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็น NPL ในอนาคตถึง 6.98% สะท้อนว่าคุณภาพสินเชื่อยังมีความเปราะบาง โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ
ไม่มีใครปฏิเสธว่า การรักษาเสถียรภาพระบบการเงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่เมื่อตัวเลขชี้ชัดว่า ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีกำไรในระดับสูง ถึงเวลาแล้วที่ กนส. ต้องปรับสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพ กับการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เพราะการมีระบบการเงินที่มั่นคง แต่ไม่สามารถเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ย่อมไม่ต่างอะไรกับการปล่อยให้ประชาชนและธุรกิจต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาปากท้อง ในขณะที่กนส. ยังคงนั่งมองอยู่บนหอคอยงาช้างอันสูงตระหง่าน
การปรับตัวของ กนส. ในครั้งนี้ไม่ใช่การละทิ้งหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน แต่เป็นการยกระดับบทบาทให้สอดคล้องกับความท้าทายของเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ต้องการความสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพ และการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,073 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568