ภูมิทัศน์การค้าโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบาย “ภาษีเท่าเทียม” (reciprocal tariffs) ที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศ ที่เก็บภาษีสูงกว่าสหรัฐฯ พร้อมกับการประกาศขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม 25% ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
นโยบายดังกล่าวของ ทรัมป์ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระเบียบการค้าโลก จากที่เคยเน้นการเปิดเสรี และลดกำแพงภาษี มาสู่ยุคของการกีดกันทางการค้า และการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตนเองมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การตอบโต้กันไปมาระหว่างประเทศต่างๆ จนกลายเป็นสงครามการค้าเต็มรูปแบบ
สำหรับประเทศไทย สถานการณ์นี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบัน ไทยมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าสหรัฐฯ ในอัตรา 10-30% ซึ่งสูงกว่าที่สหรัฐฯ เก็บจากสินค้าไทย (0-7%) อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีใหม่นี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญกว่า 29 รายการ ที่ไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม วิกฤตครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้ปรับตัว และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยมีแนวทางสำคัญ 3 ประการที่ควรเร่งดำเนินการ
ประการแรก การเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบในการปรับตัว ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แทนที่จะมุ่งเน้นการเจรจาต่อรองซึ่งอาจไม่ทันการณ์
ประการที่สอง การใช้จุดแข็งด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง โดยเฉพาะในประเด็นที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เช่น ความร่วมมือในลุ่มแม่นํ้าโขง การซ้อมรบ และการซ่อมบำรุงกองเรือ ซึ่งอาจใช้เป็นข้อต่อรองเพื่อลดผลกระทบทางการค้าได้
ประการที่สาม การเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าระยะยาว ด้วยการกระจายความเสี่ยงไปสู่ตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ BRICS ตลาดจีนตอนใต้ อินเดีย และตะวันออกกลาง พร้อมทั้งเร่งเจรจา FTA ฉบับใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกและลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ไทยควรเร่งพัฒนาความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการค้าและการลงทุนมากขึ้น
สิ่งที่น่ากังวล คือ หากสถานการณ์การโต้ตอบทางการค้ายืดเยื้อ อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1930 ซึ่งมีการใช้กำแพงภาษีโต้ตอบกันไปมา จนส่งผลกระทบรุนแรง ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเลวร้ายลงจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระเบียบการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ และการพัฒนาระบบการเงินทางเลือก โดยกลุ่ม BRICS ซึ่งไทยควรติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด และเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
ท้ายที่สุด วิกฤตการค้าโลกครั้งนี้ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทดสอบความสามารถในการปรับตัวของเศรษฐกิจไทย การเตรียมพร้อมรับมือทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งการใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านความท้าทายครั้งนี้ไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,070 วันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568