ต้องเร่งเครื่องบิ๊กโปรเจ็กต์ กู้วิกฤตเศรษฐกิจประเทศ

08 ก.พ. 2568 | 06:30 น.

ต้องเร่งเครื่องบิ๊กโปรเจ็กต์ กู้วิกฤตเศรษฐกิจประเทศ : บทบรรณาธิการ ... หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,069

การลงทนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ โดยมีหมุดหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลาง การเดินทางขนส่งสินค้าในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก   

ที่ล่าสุด มีควันหลงจากงาน Dinner Talk : Go Thailand 2025 Women Run the World พลังหญิงเปลี่ยนโลก จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” เมื่อช่วงคํ่าวันที่ 3กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา 

โดย นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พูดถึงโครงการขนาดใหญ่ หลายโครงการไว้อย่างน่าสนใจ ที่นอกจากจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ มีการเบิกจ่ายงบประมาณและทำให้เกิดการจ้างงานลงลึกถึงระบบฐานรากแล้ว  ยังช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศได้มากขึ้นจาก แนวคิดพัฒนาท่าเรือสำราญ  ซึ่งที่ผ่านมามีเรือลักษณะนี้เข้าประเทศจำนวนไม่น้อยแต่ติดปัญหาไม่มีท่าเรือเฉพาะ 

เพราะดูจากตัวเลขสถิติในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด ประเทศไทยมีจำนวนเรือสำราญขนาดใหญ่ เข้ามาแวะพักจอดมากเป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชีย และมีอัตราการเติบโตถึง 14% ปัจจุบันประเทศไทยกลับไม่มีท่าเทียบเรือในการรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่โดยเฉพาะโดยต้องแบ่งใช้พื้นที่บางส่วนในท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเกาะสมุย และท่าเรือภูเก็ต ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง

โปรเจ็กต์นี้ เห็นด้วยกับ ท่าน มนพร รมช.คมนาคม ที่มีแผนก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ครอบคลุม ทั้งฝั่งอ่าวไทย และ อันดามัน จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือสำราญบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา ท่าเรือสำราญภูเก็ต และ ท่าเรือสำราญเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

โดยหลังจากที่ท่าเรือสำราญ ขนาดใหญ่ทั้ง 3 แห่งเปิดให้บริการ จะส่งผลให้มีจำนวนเรือสำราญขนาดใหญ่ แวะเข้าเทียบท่ามากขึ้น สร้างเม็ดเงิน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเดิมไม่น้อยกว่า 7 - 8 เท่า  เรียกว่าหากทำได้เร็ว ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะทางนํ้า 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่สำคัญที่เป็นโครงการเรือธงของรัฐบาลนี้ แม้จะต้องใช้เวลา แต่ในระยะยาว เรียกว่า คุ้มค่า คือ การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อให้เป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางทะเลเส้นทางใหม่ของโลก ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 15-20% และลดระยะเวลาในการขนส่งทางทะเลได้ประมาณ 4 - 5 วัน โครงการแลนด์บริดจ์ จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลแห่งใหม่ของภูมิภาคและของโลก

ขณะที่การพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศ จากข้อมูลของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATAคาดการณ์ว่า ในปี 2575 จะมีนักท่องเที่ยวและผู้โดยสาร เดินทางมายังประเทศไทยทางเครื่องบินถึง 240 ล้านคน  

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคม จึงมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติหลักให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากดังกล่าว ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3 โดยจะขยายอาคารผู้โดยสารหลักปัจจุบันด้านทิศตะวันออก 

รวมถึงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ด้านทิศใต้ และทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมการพัฒนา วงเงินลงทุน 170,000 ล้านบาท

ส่วนท่าอากาศยานดอนเมืองนั้น ปัจจุบันทอท. ได้กำหนดแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศแห่งใหม่และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเดิม วงเงินลงทุน 36,830 ล้านบาท
 เรียกว่าต้องลุ้นให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นโดยเร็ว แต่ก็ต้องใช้เวลา !!

หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,069 วันที่ 9 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568