ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. เปิดเผยว่า บทบาทด้านการวิจัยพัฒนาด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ของเนคเทค สวทช. ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัล กลายเป็นตัวแปรสำคัญของการพัฒนาในทุกภาคส่วน เพื่อตอบโจทย์งานวิจัยพัฒนาให้แก่ภาคเกษตรกรรม
เนคเทค จึงได้จัดตั้งทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ที่จะช่วยเปิดประตูสู่ การเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ด้วยการนำเทคโนโลยีแกนหลักของเนคเทค ทั้งด้าน Sensor, IoT Network, AI และ Big Data พร้อมกับความเชี่ยวชาญในสาขาอื่นๆ เช่น Embedded System, Machine Vision, Photonic, Phonotype เพื่อมาผสมผสานพัฒนาเป็นผลงานเพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคการเกษตร
ล่าสุดได้เปิดตัว ระบบ HandySense B-Farm ผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย เซนเซอร์อัจฉริยะ, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้เกษตรกร หรือผู้ประกอบการด้านเกษตร สามารถนำไปใช้ควบคุม บริหารจัดการระบบฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และวิเคราะห์ข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ นำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรมไทยให้ก้าวไกลและแข่งขันได้ในตลาดโลก
“การเปิดตัว HandySense B-Farm ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของวงการเกษตรไทย ที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการเกษตรของประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายของเนคเทค และหน่วยงานพันธมิตรทุกหน่วยที่เล็งเห็นความสำคัญ และมีส่วนร่วมในระบบนิเวศในการผลักดันเกษตรกรไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ เราเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ใช่เพียงเครื่องมือ แต่เป็น "โอกาส" ที่จะช่วยให้ภาคเกษตรกรรมไทยสามารถแข่งขัน และเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
ดร.พนิตา กล่าวต่อไปว่าปัจจุบันเนคเทคมีผลงานวิจัยใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ (1) ระบบตรวจวัด (2) ระบบควบคุมความแม่นยำสูง และ (3) ระบบช่วยตัดสินใจ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยังช่วยสร้างความแม่นยำ ลดการสูญเสีย ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีรายได้จากผลผลิตที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งตอบโจทย์ มิติเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในโครงการการผลิตพืชสมุนไพรและเกษตรอัจฉริยะ ตามกลยุทธ์ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (S&T Implementation for Sustainable Thailand) ของ สวทช.