เงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน

17 มี.ค. 2564 | 12:45 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2564 | 19:46 น.
6.3 k

เงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย  ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,662 หน้า 5 วันที่ 18 - 20 มีนาคม 2564

เงินเฟ้อและอัตราการว่างงานคือ สองตัวแปรสำคัญที่ใช้วัดศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เงินเฟ้อ คือ การเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไป ภาวะเงินเฟ้อคือการเพิ่มขึ้นของระดับราคาของประเทศอย่างต่อเนื่อง เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแสดงว่าระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของประชาชน

เมื่อระดับราคาเพิ่มขึ้น เงินที่ถืออยู่สามารถนำไปซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลงหรืออำนาจในการซื้อลดลง ทำให้การวางแผนการใช้เงินในอนาคตลำบากมากขึ้น ในขณะที่อัตราการว่างงานคือร้อยละของผู้ว่างงานต่อกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งกำลังแรงงานหมายถึงผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปและพร้อมที่จะทำงาน อัตราการว่างงานตํ่าหมายถึงมีจำนวนผู้มีงานทำสูง การผลิตจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตและรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นด้วย 

ดังนั้นภาวะเงินเฟ้อตํ่า หรือ เงินเฟ้อ ที่ไม่สูงมากและการว่างงานตํ่าจึงส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจจึงต้องการเงินเฟ้อตํ่าและการว่างงานตํ่า แต่บ่อยครั้งที่เป้าหมายทั้งสองนี้ขัดแย้งกัน จะสังเกตได้ว่าเมื่อมีผลผลิตมากขึ้นหรือเมื่อมีการว่างงานลดลง แต่ราคากลับจะสูงขึ้น ราคาปรับตัวสูงขึ้นเมื่อให้ระดับราคาเดิมมาคือเงินเฟ้อสูงขึ้น

ดังนั้นเมื่อผู้กำหนดนโยบายกำกับเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว มีการผลิตมากขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้น การว่างงานลดลง แต่เงินเฟ้อจะสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อผู้กำหนดนโยบายกำกับเศรษฐกิจโดยการใช้นโยบายทางการเงินแบบตรึงตัวหรือลดการใช้จ่ายของรัฐบาลทำให้อุปสงค์ลดลง การว่างงานเพิ่มขึ้น แต่เงินเฟ้อลดลง ดูเหมือนว่ามีการชดเชยของสองตัวแปรที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน

การชดเชยนี้คือลักษณะเด่นของเส้นฟิลลิปส์ (Phillips curve) ซึ่งถูกค้นพบโดย วิลเลียม ฟิลลิปส์ (William Phillips) นักเศรษฐศาสตร์ชาวนิวซีแลนด์ ฟิลลิปส์ใช้ข้อมูลของสหราชอาณาจักรในช่วงปี 1861 ถึง 1957 ต่อมา พอล แซมมวลสัน (Paul Samuelson) และโรเบริต์ โซโลว์ (Robert Solow) ได้ใช้ข้อมูลของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1900 ถึง 1960 ให้ผลที่เหมือนกันคือมีการชดเชยของ เงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน 

ฟิลลิปส์ได้อธิบายว่าเงินเฟ้อมีความผันผวนปีต่อปีรอบๆ ค่าคงที่ค่าหนึ่ง การคงอยู่ (Persistence) ของเงินเฟ้อไม่มีกล่าวคือเงินเฟ้อปีนี้ไม่ใช่ตัวทำนายที่ดีของเงินเฟ้อในปีถัดไป สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะที่ดีของพฤติกรรมของเงินเฟ้อในช่วงเวลาที่ฟิลลิปส์ แซมมวลสัน และโซโลว์ ศึกษาเงินเฟ้อ จึงสมเหตุผลที่ผู้กำหนดค่าจ้างจะกำหนดให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (Expected inflation) มีค่าคงที่ และเราจะสังเกตได้ว่ามีการชดเชยกันระหว่างเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน

ในช่วงนั้นผู้กำหนดนโยบายถ้าต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว มีการผลิตมาก มีอัตราการว่างงานตํ่า ต้องยอมรับเงินเฟ้อที่สูง และถ้าผู้กำหนดนโยบายต้องการลดเงินเฟ้อลง ต้องยอมรับอัตราการว่างงานจะสูงขึ้น และผลผลิตลดลง จึงเรียกกันว่าการลดเงินเฟ้อที่เจ็บปวด (Painful disinflation)  

หลังจากนั้นในช่วงปี ค.ศ. 1970-2014 เส้นฟิลลิปส์ไม่สามารถอธิบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากหลักฐานเชิงประจักษ์ไม่พบการชดเชยกันระหว่างเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน ดูเหมือนว่าเส้นฟิลลิปส์ได้หายไปหรือไม่มีการชดเชยระหว่างเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน เนื่องจากว่าการคงอยู่ของเงินเฟ้อเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทและคนงานเริ่มเปลี่ยนแนวทางคาดการณ์เงินเฟ้อ โดยคิดว่าถ้าเงินเฟ้อสูงปีที่แล้ว ปีนี้เป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อจะสูงด้วย

การก่อตัวเงินเฟ้อคาดการณ์ของผู้กำหนดค้าจ้างได้เปลี่ยนไป เงินเฟ้อคาดการณ์คือการถ่วงนํ้าหนักระหว่างค่าคงที่กับเงินเฟ้อในช่วงเวลาก่อนหน้า ในช่วงทศวรรษ 1970 นํ้าหนักจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปทางเงินเฟ้อคาดการณ์เท่ากับเงินเฟ้อในช่วงเวลาก่อนหน้า ทำให้ได้ความสัมพันธ์ใหม่ที่สามารถอธิบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1970-2014 คือการชดเชยยังคงอยู่แต่เปลี่ยนเป็นการชดเชยระหว่างการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน แทนที่จะเป็นการชดเชยระหว่างเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน ความสัมพันธ์ใหม่นี้ถูกเรียกว่าเส้นฟิลลิปส์ที่ถูกแก้ไข (Modified Phillips curve) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เส้นฟิลลิปส์ที่เพิ่มการคาดการณ์ (The expectations augmented Phillips curve) 

 

อย่างไรก็ตาม ปลายทศวรรษที่ 1960 มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) และ เอ็ดมันด์ เฟลป์ส (Edmund Phelps) เสนอว่า การชดเชยระหว่างเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานเกิดขึ้นจริงแต่เป็นเพียงแค่ชั่วคราวหรือในระยะสั้นเท่านั้น เมื่อเศรษฐกิจเคลื่อนที่เข้ามาสู่ดุลยภาพระยะกลางแล้วการชดเชยระหว่างเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานจะหายไป 

อัตราการว่างงานไม่ควรจะถูกรักษาให้อยู่ตํ่ากว่าระดับที่แน่นอนระดับหนึ่ง ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองท่านเรียกว่า อัตราธรรมชาติของการว่างงาน (Natural rate of unemployment) ซึ่งถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอัตราการว่างงานที่ไม่ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น (The Non-Accelerating Inflation Rate of Unemployment หรือ NAIRU) หมายความว่าถ้าผู้กำหนดนโยบายควบคุมเศรษฐกิจให้อัตราการว่างงานเท่ากับอัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติแล้ว เงินเฟ้อจะไม่เพิ่มขึ้น หรือกล่าวได้ว่าในระยะกลางเศรษฐกิจจะเคลื่อนไปอยู่ที่ระดับธรรมชาติ อัตราการว่างงานเท่ากับอัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติ เนื่องจากบริษัทและคนงานปรับการคาดการณ์เงินเฟ้อตลอดเวลาทำให้ในระยะกลางเงินเฟ้อคาดการณ์เท่ากับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้ไม่มีการชดเชยระหว่างเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน 

 

เงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน

 

ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดของอัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติ อัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติจะเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาเปลี่ยนไป และอัตราการว่างงานที่เวลาใดๆ จะมีความผันผวนหรือเคลื่อนที่ไปรอบๆ อัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติ ฟรีดแมนและเฟลป์ส อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานที่เบี่ยงเบนออกจากอัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติ เมื่ออัตราการว่างงานอยู่ตํ่ากว่าอัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติหรือกล่าวได้ว่าผลผลิตอยู่สูงกว่าผลผลิตที่ระดับธรรมชาติ เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น และเมื่ออัตราการว่างงานอยู่สูงกว่าอัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติหรือผลผลิตอยู่ตํ่ากว่าผลผลิตที่ระดับธรรมชาติ เงินเฟ้อจะลดลง 

 

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2562 มีการเติบโต 2.3% เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.7% มีผู้ว่างงานจำนวน 3.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิค-19 ที่เริ่มเกิดในปลายเดือนธันวาคมปี 2562 ทำให้รัฐบาลได้ออกมาตรการในการยับยั้งการแพร่ระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจไทยที่ต้องเพิ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อรายได้ต่างชาติลดลงจึงส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างมากจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหดหายไปหมด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 ก่อให้เกิดความผันผวนและเศรษฐกิจไทยเบี่ยงเบนออกจากระดับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือในระยะสั้น ทำให้ในปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.1% เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.8% และมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.7% จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อลดลงแต่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นหรือมีการชดเชยกันระหว่างเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานในเศรษฐกิจไทย อธิบายได้ว่าอัตราการว่างงานของประเทศไทยสูงกว่าอัตราการว่างงานที่ระดับธรรมชาติหรือประเทศไทยมีการผลิตที่ตํ่ากว่าระดับธรรมชาติ 

เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งมาตรการทางการเงินและการคลังในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และเริ่มมีการใช้วัคซีนในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิค-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจฟื้นกลับคืนมาอยู่ในระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิค-19 ใน 2 ปี แต่อาจต้องใช้เวลา 6 ถึง 7 ปีในการที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาอยู่ที่ระดับธรรมชาติหรือดุลยภาพในระยะกลางอีกครั้ง ดังนั้นเราอาจได้เห็นเงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่าไปอีกหลายปี