อย่าให้พักหนี้เกษตรกร กลายเป็น “ติดกับดักหนี้”

30 ก.ย. 2566 | 09:00 น.

อย่าให้พักหนี้เกษตรกร กลายเป็น “ติดกับดักหนี้” บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3927

หลังรัฐบาล “เศรษฐา 1” แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และเริ่มปฏิบัติภารกิจมีการประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.นัดแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 66 ได้เร่งเครื่องเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศเต็มสูบ ผ่านไปยังไม่ถึงเดือนมีการอนุมัติในหลายมาตรการ เรียกคะแนนเสียงจากประชาชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องได้อย่างอื้ออึง

ทั้งลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ลดราคาดีเซลต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร คงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ต่อไปอีก 1 ปี วีซ่าฟรีนักท่องเที่ยวจีน-คาซัคสถานจูงใจเที่ยวไทยเพิ่มรายได้เข้าประเทศ พักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี (1 ต.ค. 66-30 ก.ย.67)

ส่วนนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต 5.6 แสนล้านบาท ให้กับประชาชน 56 ล้านคน ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 3 ต.ค.นี้จะมีการนำเสนอ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการดิจิทัล วอลเล็ต มีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อพิจารณาในรายละเอียด มีเป้าหมายเริ่มดำเนินการได้ ในวันที่ 1 ก.พ. 67 นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นวันละ 400 บาท คาดจะได้ข้อสรุปในเดือนพฤศจิกายน ส่วนเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายยังไม่มีข้อสรุป

 

จะเห็นได้ว่า มาตรการของรัฐบาลที่ออกมา ได้เลือกมาตรการที่โดนใจคนไทย และภาคธุรกิจมาเป็นอันดับต้น ๆ ที่น่าจับตาคือ มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ที่เดิมนโยบายหาเสียงระบุ จะพักหนี้ทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่รัฐบาลได้เลือกที่จะพักชำระหนี้ชิมลางระยะแรกเป็นเวลา 1 ปีก่อน

โดยจะพักหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อยตามความสมัครใจ สำหรับเกษตรกรกรายย่อยลูกหนี้ ธ.ก.ส. เกือบ 2.7 ล้านราย มูลหนี้รวมเกือบ 3 แสนล้านบาท คุณสมบัติต้องมีเงินต้นคงเป็นหนี้เหลือในทุกสัญญา ณ วันที่ 30 ก.ย. 66 ไม่เกิน 3 แสนบาท มาตรการพักชำระหนี้ครั้งนี้ คาดจะใช้งบราว 3.6 หมื่นล้านบาท โดยในปีแรกได้อนุมัติวงเงิน 12,000 ล้านบาท ในการจ่ายดอกเบี้ยทดแทนเกษตรกร

 

ย้อนรอยนโยบายพักชำระหนี้ของรัฐบาลในครั้งนี้ ถูกวางไว้ภายใต้เป้าหมายการเพิ่มรายได้เกษตรกรเป็น 3 เท่า ภายในปี 2570 ช่วยลดภาระจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุเกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 4.5 แสนบาทต่อครัวเรือน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ชี้ว่า นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรสามารถทำได้ แต่ต้องมีนโยบายเพิ่มรายได้ควบคู่ไปด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่ต่างกับการสร้างกับดักหนี้ให้กับเกษตรกร เพราะเมื่อพักหนี้แล้วเกษตรกรจะไม่สามารถกู้เงิน ธ.ก.ส.มาลงทุนใหม่ได้ ทำให้การหารายได้เพิ่มไม่เกิดตาม

อย่างไรก็ดี มติ ครม.จะมีงบอีก 1,000 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่พักหนี้เพื่อเข้าร่วมโครงการยกระดับศักยภาพในการทำการเกษตร ดังนั้น ในเรื่องนี้จะต้องมีรูปธรรมของแผนปฏิบัติการ เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ และบังเกิดผลตามเป้าหมายอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นแล้วมาตรการพักชำระหนี้ หากไม่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจริง อาจนำมาซึ่งความล้มเหลวของนโยบาย และกลายเป็นการสร้างกับดักให้เกษตรกรมีหนี้ไม่รู้จบ