เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตวัน รวมถึงในด้านการรักษาพยาบาล ที่พบว่า “นวัตกรรมทางการแพทย์” หรือ Digital Health ที่ผนวกเอาเทคโนโลยีและศาสตร์ทางการแพทย์มาไว้ด้วยกัน เพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัย ดูแล รักษา และป้องกันได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงสร้างโอกาสทางการแพทย์ได้อย่างมากมาย การจัดงาน “THAN X FORUM 2023 : HEALTH AND WELLNESS SUSTAINABILITY” โดย “ฐานเศรษฐกิจ” ในหัวข้อ “Digital Health Tech ระบบนิเวศใหม่การแพทย์ไทย” จึงได้รับความสนใจมากมาย
ดร.ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด และบริษัท เมดิคอล อินเทลลิเจนซ์ จำกัด กล่าวว่า การดูแลสุขภาพปัจจุบันอยู่ในช่วงการปฏิรูปวงการแพทย์ และการดูแลสุขภาพ เป็นเรื่อง Global Health Governance คือ ระบบอภิบาลสุขภาพโลก วงการสาธารณสุขของทุกประเทศ รวมถึงภาคเอกชน ต้องหันมาจับมือกับภาครัฐ เพื่อสร้างระบบป้องกันให้คนในประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น มีความยืดหยุ่นมากขึ้นรวมถึงไทย
“ความท้าทายที่ว่า ต้องแก้ไขด้วยการเปลี่ยนแปลงการให้บริการเฮลท์แคร์สู่ความยั่งยืน (Healthcare Sustainability) ภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญกับการจับมือกับภาครัฐมากขึ้น เรื่องที่กำลังถกกัน คือ การดูแลสุขภาพก่อนป่วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน และมันเป็นเรื่องที่ต้องเดินไปด้วยกันกับเรื่องของความยั่งยืน ทำอย่างไรให้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ดูแลตัวเอง และดูแลลูกหลานได้อย่างยั่งยืน”
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การทำให้ประชาชนทั้งประเทศ สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม ผ่านการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้าผนวก ต้องทำให้ประชาชนทั้งประเทศมีสิทธิเข้าถึงการใช้เฮลท์แคร์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ประชาชนไม่ต้องเดินทาง สามารถเชื่อมต่อการดูแลรักษาและป้องกันได้ด้วยเทคโนโลยี
สำหรับระบบเทคโนโลยีที่ถูกนำเข้ามาใช้ มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอไอ แชทบอท คลาวด์ และอื่นๆ วงการแพทย์ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากที่สุด ปี พ.ศ. 2554 มีการจดสิทธิบัตรทางด้านการแพทย์มากกว่าหนึ่งหมื่นสิทธิบัตร ในช่วงเวลา 4 ปี และยังใช้เทคโนโลยีในวงการแพทย์มากกว่า 50% ทำให้การดูแลสุขภาพดีขึ้น 40%และเทคโนโลยีที่นำเข้ามาเสริมทำให้สามารถลดต้นทุนในการรักษาสุขภาพได้มากถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ตอนนี้คนไทยจะมีประสบการณ์การใช้ Telemedicine มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิดระบาดหนักที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้การใช้ Telemedicine มีความแพร่หลาย ทั้งการดูแลรักษา การป้องกัน การรับยา การปรึกษาจิตแพทย์ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะคนเรามีโทรศัพท์มือถือ ทำให้ประชาชนสามารถป้องกันและคาดการณ์โรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้ในอนาคต โดยเทคโนโลยีทางการแพทย์ จะมีความเป็นมัลติฟังก์ชั่นมากขึ้น ช่วยทำให้คนเราไม่ต้องมีการเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม เรื่องของกฎหมายยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้การทำ Telehealth หรือการที่แพทย์จะไปพบผู้ป่วยติดขัดอยู่ ดังนั้น ภาครัฐ และแพทยสภาของไทย ต้องเร่งปลดล็อค เพื่อให้ Telehealth สามารถเดินหน้าต่อไป
ชูเทคโนโลยี-แพทย์เฉพาะทาง
นางสมถวิล ปธานวนิช ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า เมดพาร์คคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้และเกิดประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ป่วย รวมถึงกระแส Telemedicine ซึ่งการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมถือเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อมาตอบโจทย์ของโรงพยาบาลและผู้ใช้บริการ โดยเมดพาร์คคัดเลือกเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาในระดับสูง เพื่อดูแลการรักษาโรคที่มีความยากและมีความซับซ้อน
โดยมีระบบ AI ที่เข้ามาฝังอยู่ในเครื่องมือแพทย์หลาย ๆ ชนิด ซึ่งแต่ยุคสมัยก็มีการพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือแพทย์ในการวินิจฉัยและในการรักษาให้ดีขึ้น เพื่อลดเวลาผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล และลดการใช้ทรัพยากร ลดขยะทางการแพทย์ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืนของโลกตัวอย่างห้องปฏิบัติการ ที่มีความสำคัญในการวินิจฉัยโรคที่ต้องมีคุณภาพสูงสุด
เมดพาร์คยังมีศูนย์มะเร็งที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุด สามารถวินิจฉัยการรักษาได้อย่างแม่นยำ ภายใน 20 นาทีสามารถบอกได้ว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นชิ้นเนื้อที่อันตรายหรือไม่ ทำให้การรักษามีความรวดเร็วและมีความปลอดภัย ไม่ว่าจะรักษาด้วยการให้คีโมหรือด้วยการฉายรังสี โดยชิ้นเนื้อที่ดีได้รับผลกระทบน้อย มีเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยมาร์คจุดที่ใส่ข้อเข่าเทียมที่แม่นยำ
หลังรักษาและใส่ข้อเข่าเทียมแล้วสามารถเดินได้ เข่าตรง ไม่มีเข่าโค้ง หรือขาโก่งที่ไม่พึงปรารถนาทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วน EYE CARE CENTER แพทย์สามารถออกแบบให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ โดยอาศัยเทคโนโลยี อาศัย AI มาช่วยวิเคราะห์และประมวลผลสายตาให้มีความชัดเจนและมีความแม่นยำ
“เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อตัวหมอเองให้ทำงานสะดวก แต่เพื่อประโยชน์ของคนไข้ ทำให้การรักษาได้ผล และมีความรวดเร็ว และคนไข้จะไม่เจ็บตัวมาก ทั้งนี้ในเรื่องเทคโนโลยีในการรักษา โรงพยาบาลต่าง ๆ ได้ใช้กันมานานแล้ว แต่ในแต่ละช่วงปีจะมีการพัฒนา ซึ่งทางเมดพาร์คพยายามใช้เทคโนโลยีล่าสุด และเป็นเทคโนโลยีเฉพาะทาง”
โรงพยาบาลยังได้จัดทำแอพพลิเคชั่น My MedPark เพื่อช่วยคนไข้ดูแลตัวเองได้ดีขึ้น เพราะจะมีเรคคอร์ทอยู่กับตัว มีผลแล็บของตัวเอง มีการแจ้งเตือนต่างๆ การใช้ยา การนัดหมอเรียลไทม์ และสามารถฝากคำถามต่างๆ ไว้ได้ โดยมีระบบซีเคียวริตี้ในการเข้าใช้ข้อมูลของตัวเอง ซึ่งเวลานี้ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก และที่สำคัญทางโรงพยาบาลมีการคิดค่าบริการที่โปร่งใส ทั้งนี้ทางเมดพาร์คยินดีจะร่วมมือกับทุก ๆ โรงพยาบาลในประเทศไทย เพื่อยกระดับให้ประเทศเป็นเมดิคัลฮับที่ดี ที่ชาวโลกยอมรับและมาใช้มาบริการมากขึ้น และคนไทยเข้าถึงได้
พัฒนา 5G เข้าถึงระบบสาธารณสุข
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กล่าวว่า หลังการแพร่โควิด คนไทยเริ่มรับรู้ และใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเฮลท์แคร์ ที่มีการใช้งานหลังการแพร่ระบาด ประกอบด้วย บริการการแพทย์ทาง (Telehealth), ไอโอที และยารักษาโรค (IoT&Medicines)
แอปพลิเคชันสุขภาพ (Wellness in the Application) และเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual and Augmented Reality) ทั้งนี้แมคเคนซี่ ระบุว่า 60% ผู้บริโภค ยอมรับว่า เวอร์ชวลแคร์ ช่วยอำนวยความสะดวกมากกว่ามาโรงพยาบาล แสดงให้เห็นว่าคนเริ่มยอมรับเวอร์ชวลแคร์
หลังแพร่ระบาดโควิด ทำให้ระบบนิเวศหรืออีโคซิสเต็ม ของระบบสาธารณสุขกำลังเปลี่ยนไป ทั้งระบบปฐมภูมิและทุติยภูมิ โดยเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญเพิ่มศักยภาพการทำงานปฐมภูมิ เพราะแพทย์ไม่เพียงพอ เราสามารถที่นำเทคโนโลยีมาใช้เก็บข้อมูล การป้องกัน การวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟู หน้าตาอีโคซิสเต็มการดูแลผู้ป่วยเปลี่ยนไป โดยมีคลินิกเล็ก วิ่งไปดูแลผู้ป่วยต้องการรักษา โดยผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล
“ข้อดีของ 5G คือ ความเร็ว การรับส่งข้อมูลและความหน่วงต่ำ ซึ่งตอบโจทย์เฮลท์แคร์ ทั้งอุปกรณ์ IoT ใช้การเก็บข้อมูล หรือการใช้ในโรงพยาบาล 5G นำไปสู่อีโคซิสเต็มใหม่ของเฮลท์แคร์ ภายใต้ 4P ประกอบด้วย Predictive โดยการที่มีข้อมูลมากพอ สามารถคาดการณ์ , Preventative การป้องกัน , Personalized ติดตามสุขภาพส่วนบุคคล และ Participatory การมีส่วนร่วมมากขึ้น
ทั้งนี้งานวิจัยอาร์เธอร์ ลิตเทิล 5G มีบทบาทสำคัญ ในธุรกิจเฮลท์แคร์มากสุด คือ ประมาณ 21% สูงกว่าภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน 19% AIS พยายามพัฒนา 5G กับบริการสุขภาพ ทั้ง แอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม ไอโอที พยายามสร้างความเท่าเทียมเข้าถึงระบบสาธารณสุขคนไทยทุกคนได้รับการเข้าถึง เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญขับเคลื่อนให้คนไทยทุกคนเข้าถึงระบบสุขภาพ”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,867 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2566