ดันไทย "ฮับสุขภาพ" ดึง AI เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน แก้บุคลากรขาด

02 มี.ค. 2566 | 13:45 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2566 | 14:21 น.

2 บิ๊ก ชี้แนวทางผลักดันไทยเดินหน้า “ฮับสุขภาพ” อย่างยั่งยืน KBTG แนะใช้ AI ผนวกแพทย์เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน THG จี้ผู้นำรัฐบาลใหม่ ดันนโยบายทางด้านสุขภาพ

ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็น “เมดิคอล ฮับ” ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ผนวกความเป็นเลิศด้านการแพทย์ แต่การผลักดันให้ไทยเป็นเมดิคอล ฮับและคนไทยเข้าถึงระบบสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างยั่งยืน ต้องมีการปฏิรูปและกำหนดยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม “ฐานเศรษฐกิจ” จึงจัดงาน “THANX FORUM 2023 : HEALTH AND WELLNESS SUSTAINABILITY" ขึ้น เพื่อนำเสนอแนวคิดและการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น

AI ตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ-ลดต้นทุน

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “INNOVATION กับการพลิกโฉมเฮลท์แคร์ไทยสู่ความยั่งยืน” ว่า โอกาสด้านเฮลท์แคร์ในไทยมีอีกมาก ซึ่งตลาดภายในประเทศใหญ่มาก สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ได้ทั้งหมด เพื่อพัฒนาเรื่องของคุณภาพ รวมถึงช่วยลดต้นทุนได้ อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยได้มาก โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาช่วยเติมเต็ม และเพิ่มประสิทธิภาพของแพทย์ เนื่องจากหากใช้ AI อย่างเดียวคงจะมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เพราะบางครั้ง AI ก็ยังมีความผิดพลาดอยู่ในการให้คำแนะนำ

 

เรืองโรจน์ พูนผล

 

อย่างไรก็ดี หากนำ AI มาผนวกเข้ากับแพทย์จะมีประสิทธิภาพอย่างมาก โดยเวลานี้สิ่งที่สำคัญคือการที่คนกับ AI และระบบการรักษาสามารถอยู่ร่วมกันโดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ช่วยเพิ่ม Productivity ลดต้นทุน และทำให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับโอกาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังมีอีกมาก

“ประเทศไทยหากมีนโยบายที่ดี หรือชัดเจน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) หรือ การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub)ในภูมิภาคสามารถทำได้อย่างแน่นอน เพราะแบรนด์ของไทยเมื่อเทียบกับในภูมิภาคก็ดีกว่า รวมถึงไทยเองก็เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ โดยจะเห็นได้จากผู้ป่วยที่เข้ามารักษาส่วนใหญ่จะเป็นระดับสูง ไม่ใช่มาเพราะราคาถูก แต่มาเพราะจ่ายในราคาที่ไม่สูงมาก แต่ได้รับบริการที่ดีที่สุด เรียกว่าโรงพยาบาลระดับโลกอยู่ที่ไทยเยอะมาก”

สร้างระบบนิเวศเชิงสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนบุคคลากรทางการแพทย์ที่ยังไม่เพียงพอ โดยเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไข ซึ่งไทยจะต้องทำห่วงโซ่ระยะยาวให้การให้บริการเป็นแบบ 1 ต่อ 1 ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ต้องส่งต่อหลายทอดทำให้เป็นแพลตฟอร์ม โดยจะต้องสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) และผนึกร่วมกัน หรือเรียกว่าเป็นการร้อยเรียงระบบการให้บริการทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ

ฐานเศรษฐกิจ จัดงาน “THANX FORUM 2023 : HEALTH AND WELLNESS SUSTAINABILITY"

“รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อสร้างนโยบายขึ้นมาให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน เพราะทุกคนที่เข้ามาย่อมต้องการบริการแบบ N To N โดยประเทศไทยเองและคน แม้กระทั่งข้อมูลพื้นฐานทางด้านสุขภาพจะต้องแบ่งเป็น หรือแชร์กันได้ทั้งหมด หรือกล่าวง่ายๆก็คือต้องวางพื้นฐานให้ถูกต้องก่อน ให้คนเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพได้อย่างทั่วถึง พร้อมข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย”

นายเรืองโรจน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาด้านสุขภาพ หากไม่แก้ทั้งหมด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบ รวมถึงไม่มีการร่วมมือกันทั้งในรูปแบบที่เป็นสาธารณะและส่วนตัว และสร้างทำนโยบายที่เป็นอนาคต ประเทศไทยจะไม่มีทางเปลี่ยน

THG เดินหน้ายกระดับเฮลท์แคร์

นายแพทย์ ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “Medical Hub กับความยั่งยืน” ว่า Thailand Medical Hub และ Sustainability เกี่ยวข้องในภาคการแพทย์ 4 แขนงคือ

1. Medical Service Hub การแพทย์และบริการที่เกิดในโรงพยาบาล ขับเคลื่อนโดยหมอและพยาบาลนอกจากคนไข้ในประเทศแล้วในละปียังมีคนไข้ต่างประเทศบินตรงเข้ามารักษาในประเทศไทยจำนวนมาก

2. Wellness Hub เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่เกิดนอกโรงพยาบาล มีความสำคัญทางตรงกับ General tourism

3. Academic Hub เป็นบทบาทของโรงพยาบาลขนาดใหญ่และวิทยาลัยการแพทย์ ถ้าไม่มีวิชาการจะไม่มีหมอเก่งๆที่สามารถรักษาโรคซับซ้อนได้

4. Product Hub อุตสาหกรรมและธุรกิจการผลิตยา,สมุนไพรเพื่อจำหน่ายทั้งในและส่งออกเป็น global business ของภาคอุตสาหกรรม

“ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วประเทศไทยใช้เงินประมาณ 50,000 ล้านบาทกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ปัจจุบันใช้เม็ดเงินประมาณ 1.6 แสนล้านบาทสำหรับโครงการนี้หรือเติบโต 3 เท่า แลกกับการที่คนไทยสุขภาพดีขึ้นและป้องกันการล้มละลายทางครัวเรือน ที่สำคัญคือแพทย์พยาบาลไทย Keep skill โรคยากๆที่อยู่ในโปรแกรม ทำให้สามารถรองรับ Medical Tourism ได้และสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจต่อมา

นายแพทย์ ธนาธิป ศุภประดิษฐ์

"ตอนแรกเรามีความเชื่อว่าถ้าเรามีการโปรโมต Medical Tourism จะเป็นการทำให้แพทย์หันไปรักษาคนต่างชาติมากกว่ารักษาคนในประเทศ แต่ปัจจุบันความเชื่อนี้หายไป เพราะพิสูจน์แล้วว่าเมื่อคนไทยสุขภาพดีทำให้หมอ พยาบาลเก่งขึ้นสามารถรักษาโรคยากๆได้มากขึ้น Medical Tourism ก็จะมี Resource ที่จะใช้ขับเคลื่อน Medical Hub ต่อ”

หนุนสร้างความมั่งคั่งแบบยั่งยืน

นายแพทย์ธนาธิป กล่าวอีกว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงอยากฝากผู้ที่จะขึ้นมาเป็นนายกฯในอนาคต ให้ความสำคัญกับนโยบายทางด้านสุขภาพ และทำให้เกิดความมั่งคั่งแบบยั่งยืนไม่ใช่นโยบายแบบชั่วข้ามคืน รวมทั้งการเพิ่มฐานราก Infrastructure ก็ คือคน

เพราะ Healthcare เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานทักษะเฉพาะและใช้จำนวนบุคลากรจำนวนมาก คนไข้ 1 เตียงใช้บุคลากรทางการแพทย์ 8 คน ใน 8 คนนั้น 4-5 คนเป็นคนที่มีความสามารถในการการรักษาเฉพาะทาง เป็นคนที่ต้องการทักษะและมีราคาแพง เพราะฉะนั้นการรักษากำลังการผลิตเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะพยาบาลที่ขาดแคลน ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลไม่สามารถขยายโรงพยาบาลได้

“ตอนนี้ในประเทศไทยมีคณะพยาบาลศาสตร์ 80 แห่ง กำลังการผลิตอยู่ที่ 1.5 หมื่นคนต่อปี แต่ในระยะหลังๆมีคนสนใจเข้ามาเรียนพยาบาลแค่ 8,000 ต่อปี ต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่ดีอันดับ 1 เป็น Top of mind คนอยากเป็นพยาบาลเพราะมีเกียรติ แต่ตอนนี้ลดลงเพราะ Generationใหม่ๆ ทั้ง Gen Y Gen Zไม่อยากทำงานบริการและเป็นบริการที่ใช้วิชาการทั้งสูงด้วย เราอยากให้บรรจุพยาบาลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ไม่ให้พยาบาลหายไปทำอาชีพอื่นเพราะไม่ได้รับการบรรจุ ทำให้เราเสียแรงงานดีๆออกจากระบบ เพราะฉะนั้นจะต้องคีฟพยาบาลดีๆ ให้อยู่ในระบบด้วยผลตอบแทนที่ดี”

สำหรับปัจจุบันตัวเลขรวมของเฮลท์แคร์อยู่ที่ 5% ของ GDP การจ่ายจากภาคประกันประมาณแสนกว่าล้าน และเม็ดเงิน 4-5 แสนล้านบาท 80% มาจากภาครัฐจ่ายให้ แต่เชื่อว่าเฮลท์แคร์ไปได้ไกลถึง 20% ของ GDP แต่การจะโตได้จะต้องมีคนจ่ายร่วม เรายังไม่เชื่อว่ารัฐจะสามารถจ่ายเข้าไปในระบบนี้โดยที่ไม่มีคนจ่ายร่วม เพราะฉะนั้นในเรื่องของ Medical Tourism ถ้าไม่มีบุคลากรที่มีความชำนาญหรือรักษาโรคยากๆได้ ไทยก็จะออกจากระบบและจะสู้ประเทศที่รํ่ารวยและมีการ Keep skill ของแพทย์และพยาบาลต่อโรคยากๆไม่ได้”

ทั้งนี้ในส่วนของ THG มีการดำเนินการทั้ง 4 ส่วนไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ภาครัฐและเอกชนในส่วนของการพัฒนาและยกระดับ Medical Service Hub ขณะที่ Wellness Hub เรามีจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ และโปรเจค Horizon Rehab Center ในการฟื้นฟู พักฟื้น บำบัดยาเสพติด อดเหล้า-สุรา การร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์เช่นมหาวิทยาลัยสยาม ในการผลิตบุคคลากรทางการแพทย์และการคิดค้นยาในการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง