จับตา 3 เทรนด์มาแรง พลิกโฉมค้าปลีกสู่ดิจิทัล-มัดใจผู้บริโภค

21 ก.พ. 2568 | 08:11 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2568 | 09:53 น.

ค้าปลีกไทย ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ระบุชัด 3 เทรนด์ “AI- Omnichannel- Direct-to-Consumer” มาแรง พลิกโฉมธุรกิจสู่ดิจิทัล รับมือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

นางสาวคริสตี้ เดวิสัน รองประธานฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เปิดเผยว่าการค้าปลีกในอาเซียนและประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีที่ล้ำหน้า การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และอิทธิพลที่แพร่หลายของโซเชียลมีเดีย ในปีที่ผ่านมาผู้บริโภคใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น จากรายงานผลสำรวจเสียงของผู้บริโภค ประจำปี 2567: ภาพรวมของเอเชียแปซิฟิก โดย PWC ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

จับตา 3 เทรนด์มาแรง พลิกโฉมค้าปลีกสู่ดิจิทัล-มัดใจผู้บริโภค

นอกจากนี้ มากกว่าครึ่งของผู้บริโภคชาวไทยกำลังเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น หรือผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศน้อย เนื่องจากผู้บริโภคชาวไทยมองหาแบรนด์ที่สอดคล้องกับค่านิยมด้านสิ่งแวดล้อมของตน

นอกจากนี้ การให้บริการที่เจาะจงเฉพาะบุคคล (Personalization) และประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ไร้รอยต่อ (Seamless Experience) กลายเป็นความคาดหวังสำคัญของผู้บริโภค

แนวโน้มด้านค้าปลีกที่สำคัญ 3 ประการของไทยในปี 2568 มีดังนี้ คือ

1.การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนด้วย AI โดย AI กำลังเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานค้าปลีกและยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค ตั้งแต่การวางแผนความต้องการไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการมอบประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ โดย AI ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ค้าปลีกที่มองหาความได้เปรียบในการแข่งขัน ในขณะที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ความสามารถในการกำหนดทิศทางของการค้าปลีกก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

โดยเป็นผลจากนวัตกรรมต่างๆ เช่น Personalization หรือการทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจงของแต่ละลูกค้า ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมและความพึงพอใจของผู้บริโภคในปัจจุบัน ความยั่งยืนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของธุรกิจ ด้วยการใช้ AI เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวางแผนและเพิ่มประสิทธิภาพ บริษัทต่างๆ สามารถวางแผนการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นรวมถึงลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง

จับตา 3 เทรนด์มาแรง พลิกโฉมค้าปลีกสู่ดิจิทัล-มัดใจผู้บริโภค รีเล็กซ์ โซลูชันส์ ผู้ให้บริการโซลูชันการวางแผนซัพพลายเชนและค้าปลีกแบบรวมศูนย์ ได้เปิดตัวเครื่องมือการวิเคราะห์คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Analytics) ที่สามารถติดตามและรายงานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ที่ซื้อได้โดยอัตโนมัติ ช่วยให้ผู้ค้าปลีกขับเคลื่อนความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้การติดตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนในผลิตภัณฑ์เป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ในการสร้างเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งความโปร่งใสและความไว้วางใจจากผู้บริโภค ด้วยเทคโนโลยี AI ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมค้าปลีก จะช่วยให้ค้าปลีกพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างชาญฉลาดและยั่งยืนขึ้น

2.การเติบโตของกลยุทธ์ Omnichannel ภูมิทัศน์ของการค้าปลีกในอาเซียนและประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากนับตั้งแต่โควิด-19 โดยที่การค้าปลีกแบบ Omnichannel เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ และ Omnichannel ได้กลายเป็นช่องทางของการค้าในยุคสมัยใหม่ ที่มอบความสะดวกสบายและการเข้าถึงมากขึ้นให้กับผู้บริโภค

จับตา 3 เทรนด์มาแรง พลิกโฉมค้าปลีกสู่ดิจิทัล-มัดใจผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ความคาดหวังของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไป การสร้างประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อที่รวมหน้าร้านออนไลน์และร้านค้าแบบดั้งเดิมเข้าด้วยกันเป็นสิ่งสำคัญ หากกลุ่มค้าปลีกสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังที่สูงขึ้นเหล่านี้ในทุกช่องทาง จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและโอกาสได้การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในกลุ่มผู้ค้าปลีก

ในขณะที่ Omnichannel กลายเป็นหัวใจของการค้าปลีก รีเล็กซ์ โซลูชันส์ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการนำเทคโนโลยี AI, ML และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงมาเพื่อใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานค้าปลีกแบบครบวงจร โดยโซลูชันจากรีเล็กซ์ช่วยให้บริษัทค้าปลีกมีระดับสินค้าคงคลังที่เหมาะสมสูงสุด เพิ่มกำไร และมีสินค้าพร้อมจำหน่ายในทุกสาขา พร้อมมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ไร้รอยต่อให้กับผู้บริโภค

และ 3. การเติบโตของ D2C แนวโน้มที่น่าจับตา Direct-to-Consumer (D2C) หรือรูปแบบการขายที่ผู้ผลิตส่งตรงถึงผู้บริโภค กำลังปฏิวัติอุตสาหกรรมค้าปลีก โดยได้รับอิทธิพลจากอีคอมเมิร์ซ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตสามารถขายสินค้าโดยตรงไปยังผู้บริโภคโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง เช่น ร้านค้าปลีก ทั้งนี้ช่องทาง D2C กลายเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์การขายและการจัดจำหน่ายของผู้ผลิตในปีที่ผ่านมา

ข้อได้เปรียบสำคัญของ D2C คือ ผู้ผลิตสามารถควบคุมแบรนด์ การตลาด และช่องทางการขายได้อย่างเต็มที่ สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับผู้บริโภค นอกจากนี้ ด้วยความที่ราคาสินค้ามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคจึงเริ่มหันมาซื้อสินค้าตรงจากผู้ผลิตแทนที่จะซื้อจากผู้ค้าปลีก เพราะผู้ผลิตสามารถเสนอราคาที่คุ้มค่าหรือมอบข้อเสนอพิเศษที่ดีกว่าได้ ด้วยการลดต้นทุนจากการตัดคนกลางออกไป

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้ได้กลายเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้ค้าปลีกในหลายแง่มุม ผู้ค้าปลีกต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เมื่อผู้ผลิตหลีกเลี่ยงการพึ่งพาร้านค้าปลีกและมุ่งเสนอสินค้าราคาต่ำกว่า พร้อมทั้งผลิตภัณฑ์พิเศษ และมอบประสบการณ์ช้อปปิ้งที่ตอบโจทย์เฉพาะบุคคลแก่ผู้บริโภคโดยตรง การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้การเข้า-ออกร้านค้าปลีกลดลงและกระทบรายได้ของผู้ค้าปลีก โดยเฉพาะสำหรับสินค้าที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ผู้ค้าปลีกควรหันมาใช้เทคโนโลยี AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำ ทันเวลา และมีคุณภาพสูง

ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ภูมิทัศน์ค้าปลีกของประเทศไทยกำลังปรับตัวอย่างต่อเนื่องสู่รูปแบบที่ไร้รอยต่อและมีการแข่งขันสูง ผู้ค้าปลีกจึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนเพื่อก้าวให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวโน้มสำคัญ เช่น การผนวกรวมเทคโนโลยี AI ความต้องการประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อในการช้อปปิ้งผ่าน Omnichannel และการเติบโตของโมเดล D2C ทั้งนี้ AI มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคค้าปลีกโดยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน พร้อมสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคลที่ตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น