สสส.-we!park ยกระดับการดูแลสุขภาพ มุ่งดันกรุงเทพฯสู่เมืองสุขภาวะ

21 ก.พ. 2568 | 07:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2568 | 07:20 น.

สสส.เดินหน้าร่วมมือกับwe!park และภาคีเครือข่ายยกระดับการดูแลสุขภาพ มุ่งผลักดันกรุงเทพมหานครสู่เมืองสุขภาวะ ระบุข้อมูลพบหลังสถานการณ์โควิดอัตราความกระฉับกระเฉงของคนไทยลดลงจาก 70% เหลือเพียง 50%

นางสาวนิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการยกระดับวิถีชีวิตกระฉับกระเฉงเท่าเทียม ทั่วถึง รวมถึงมุ่งทำให้ประชาชนมาร่วมสร้างเมืองสุขภาพดี

โดยล่าสุดได้ดำเนินการร่วมกับ we!park และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม Active City Forum ซึ่งจะเป็นการผลักดันให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสุขภาวะ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งนักวิชาการและชุมชนที่ปฏิบัติจริง ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ภาคเอกชนได้เห็นแนวทางการสนับสนุนและเปิดพื้นที่สุขภาวะ ขณะที่ภาคนโยบายจะได้เข้าใจว่าควรออกนโยบายอย่างไรเพื่อส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะ ซึ่งจะนำไปสู่การลดโรคไม่ติดต่อ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับ กทม. พัฒนาโครงการสวน 15 นาที ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถออกกำลังกายใกล้บ้านได้ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางและพื้นที่ที่ปลอดภัย เหมาะสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว 

สสส.-we!park ยกระดับการดูแลสุขภาพ  มุ่งดันกรุงเทพฯสู่เมืองสุขภาวะ

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายให้สวนสาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดเหล้า บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี

นายยศพล บุญสม หัวหน้าโครงการ we!park กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างวิทยากรจากเมืองชั้นนำของเอเชียและยุโรป กับภาคีในประเทศไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน นักวิชาการ และนักเรียนนักศึกษา 

"สิ่งสำคัญของกิจกรรมดังกล่าวคือการกำลังสื่อสารว่า การมีสุขภาพดีไม่ใช่เรื่องของแพทย์หรือภาครัฐเท่านั้น แต่เป็นสิทธิของทุกคนที่จะร่วมออกแบบผ่าน 4 มิติ คือ การออกแบบนโยบาย การออกแบบเมือง การออกแบบวิถีชีวิต และการออกแบบความร่วมมือ" 

รศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์โควิด พบว่าอัตราความกระฉับกระเฉงของคนไทยลดลงอย่างน่าตกใจจาก 70% เหลือเพียง 50% แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะดีขึ้นบ้างแต่ก็ยังไม่กลับสู่ระดับเดิม 

"ไทยกำลังเผชิญความท้าทายหลายด้าน ทั้งกลุ่มคนที่ไม่สามารถกลับมาออกกำลังกายได้ด้วยตนเอง ปัญหา PM2.5 ที่ส่งผลต่อการทำกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงปัจจัยด้านจิตใจที่ส่งผลต่อการดูแลสุขภาพ โดยมุ่งหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนไทยกลับมามีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงอีกครั้ง"