แพทยสภาต้องปลดล็อคข้อจำกัด เพื่อคนไทยเข้าถึง Telehealth

24 ก.พ. 2566 | 12:08 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2566 | 00:37 น.

ซีอีโอ "เทเลเฮลท์ แคร์" เผย วงการแพทย์ต้องจับมือภาครัฐ ต่อยอดเทเลเฮลท์แคร์ สู่ Healthcare Sustainability ดูแลสุขภาพผ่านนวัตกรรมเทคโนโลยี ควบคู่กับความยั่งยืน ลดมลพิษของโลก พร้อมปลดล้อคข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนให้ประชาชน

จากงาน เสวนา THAN FORUM 2023 HEALTH AND WELLNESS SUSTAINABILITY ซึ่งจัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" ในหัวข้อ Digital Health Tech ระบบนิเวศใหม่การแพทย์ไทย ดร.ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด และ บริษัท เมดิคอล อินเทลลิเจนซ์ จำกัด กล่าวว่า การดูแลสุขภาพ ตอนนี้อยู่ในช่วงการปฏิรูปวงการแพทย์ และการดูแลสุขภาพ มันเป็น Double Disruption ที่พูดกันในงาน World Economic Forum แต่พอสามปีผ่านไป ตอนนี้ไม่ได้เจอแค่ double แตกลายเป็น Triple Disruption ไปแล้ว ปี ค.ศ.2023 มีระบบนิเวศที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพที่เน้น Customer Centric ให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการด้านสุขภาพเป็นหลัก 

 

การดูแลสุขภาพ เป็นเรื่อง Global Health Governance คือ ระบบอภิบาลสุขภาพโลก วงการสาธารณสุขของทุกประเทศ รวมถึงภาคเอกชน ต้องหันมาจับมือกับภาครัฐ เพื่อสร้างระบบป้องกันให้คนในประเทศมีความเข้มแข็งมากขึ้น มีความหยืดหยุ่น (resilience) มากขึ้น รวมถึงไทยด้วย

แพทยสภาต้องปลดล็อคข้อจำกัด เพื่อคนไทยเข้าถึง Telehealth

การทำเรื่องดาต้าดิสรัป ที่ต้องนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ มาประเมินว่า จะต้องเตรียมการป้องกันอย่างไร ซึ่งเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้วตั้งแต่ช่วงของโควิด -19 ที่ผ่านมา 

 

นอกจากนี้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) บอกว่าประชากรโลกมีกว่าพันกว่าล้านคนที่ยากจน ถ้าไม่เร่งมือแก้ไขหรือทำอะไร การดูแลสุขภาพจะส่งกระทบมากขึ้น..."ถ้าการดูแลสุขภาพเบื้องต้นไม่ดีพอ เราจะเสียเงินเยอะ จะเกิดความยากจนมากขึ้น เราต้องวางแผนให้ครบลูป" 

 

สิ่งที่ต้องยอมรับคือ สิ่งแวดล้อมมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสุขภาพของคน โดยพิจารณาได้จากสัดส่วนของคนที่ตายในโลก ส่วนใหญ่มากกว่า 25% เสียชีวิตจากผลกระทบของสภาพอากาศ ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของวงการแพทย์ ที่ต้องพยายามใช้อุปกรณ์และบริการ ที่ต้องมีการปฏิวัติการผลิตนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว พร้อมๆ กับการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 

อีกเรื่อง คือ เรื่องสังคมผู้สูงอายุ ประชากรมีอายุมากขึ้นมีลูกหลานน้อยลง ปัจจุบันประชากรโลกมีกว่า 7,600 ล้านคน ปี ค.ศ.2030 UN คาดจะเป็น 8,600 ล้านคน และปี ค.ศ. 2050 จะเพิ่มเป็น 9,800 ล้านคน จะทำอย่างไรให้เรื่องเฮลท์แคร์ดูแลกันได้อย่างทั่วถึง ในขณะที่ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคที่ไม่ใช่โรคติดต่อมากขึ้น อาทิ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ 

 

ความท้าทายที่ว่า ต้องแก้ไขด้วยการเปลี่ยนแปลงการให้บริการเฮลท์แคร์สู่ความยั่งยืน (Healthcare Sustainability) ภาคเอกชนต้องให้ความสำคัญกับการจับมือกับภาครัฐมากขึ้น

 

"เรื่องที่เรากำลังถกกัน คือ การดูแลสุขภาพก่อนป่วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน และมันเป็นเรื่องที่ต้องเดินไปด้วยกันกับเรื่องของความยั่งยืน ทำอย่างไรให้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ดูแลตัวเอง และดูแลลูกหลานได้อย่างยั่งยืน" 

 

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การทำให้ประชาชนทั้งประเทศ สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม ผ่านการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้่าผนวก ต้องทำให้ประชาชนทั้งประเทศมีสิทธิเข้าถึงการใช้เฮลท์แคร์ได้ทุกที่ทุกเวลา ประชาชนไม่ต้องเดินทาง สามารถเชื่อมต่อการดูแลรักษาและป้องกันได้ด้วยเทคโนโลยี

 

สำหรับระบบเทคโนโลยีที่ถูกนำเข้ามาใช้ มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอไอ แชทบอท คลาวด์ และอื่นๆ วงการแพทย์ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากที่สุด ปี พ.ศ. 2554 มีการจดสิทธิบัตรทางด้านการแพทย์มากกว่าหนึ่งหมื่นสิทธิบัตร ในช่วงเวลา 4 ปี และยังใช้เทคโนโลยีในวงการแพทย์มากกว่า 50% ทำให้การดูแลสุขภาพดีขึ้น 40%และเทคโนโลยีที่นำเข้ามาเสริมทำให้สามารถลดต้นทุนในการรักษาสุขภาพได้มากถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐ 

 

ตอนนี้คนไทยจะมีประสบการณ์การใช้ Telemedicine มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิดระบาดหนักที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้การใช้ Telemedicine มีความแพร่หลาย ทั้งการดูแลรักษา การป้องกัน การรับยา การปรึกษาจิตแพทย์ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะคนเรามีโทรศัพท์มือถือ ทำให้ประชาชนสามารถป้องกันและคาดการณ์โรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้ในอนาคต โดยเทคโนโลยีทางการแพทย์ จะมีความเป็นมัลติฟังก์ชั่นมากขึ้น ช่วยทำให้คนเราไม่ต้องมีการเจ็บป่วยในระยะสุดท้าย

 

สำหรับบริษัทฯ ได้มีความร่วมมือกับกลุ่มเอสซีจี ในการนำนวัตกรรมต่างๆ มาทำเป็นพอร์ตเพื่อให้ประชาชนเข้าพอร์ทแล้วพบแพทย์ได้เลย สามารถเชื่อมต่อกันได้โดยไม่ต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล 

 

ส่วนเรื่องของ Telemedicine ที่ขณะนี้หน่วยงานของรัฐกำลังสร้างแพลทฟอร์ม Telehealth เพื่อช่วยคนทั้วประเทศ ภาคเอกชนก็มีหลายส่วนมาจับมือกับรัฐ เพื่อทำให้การให้บริการ Telehealth ได้อย่างครอบคลุม โดยไม่จำกัดว่าจะใช้สิทธิอะไร จะต้องเข้าถึงได้ทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมถึงซัพพอร์ตเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย และในปีนี้ถึงปีหน้าจะมีแพลทฟอร์มของภาครัฐออกมารองรับในจุดนี้

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องของกฎหมายยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้การทำ Telehealth หรือการที่แพทย์จะไปพบผู้ป่วยติดขัดอยู่ ดังนั้น ภาครัฐ และแพทยสภาของไทย ต้องเร่งปลดล็อค เพื่อให้ Telehealth สามารถเดินหน้าต่อไป