ดึงร้านยาดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียว เชื่อมระบบ AMED Telehealth

12 เม.ย. 2565 | 14:49 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2565 | 22:04 น.

สภาเภสัชกรรม และ สวทช. ดึงร้านยาดูแลผู้ป่วยโควิด เข้าเชื่อมโยงระบบบริการการแพทย์ทางไกล หรือ AMED Telehealth เพื่อร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน

สภาเภสัชกรรม และ สวทช. ดึงร้านยาดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียวให้รับยา-ติดตามอาการตาม ระบบเจอ แจก จบ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้ารับบริการ โดยเฉพาะที่หน่วยบริการใกล้บ้าน สปสช.ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรม เชิญชวนร้านยาที่มีความพร้อมบริการเข้าเชื่อมโยงระบบบริการการแพทย์ทางไกล หรือ AMED Telehealth เพื่อร่วมดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 สีเขียว ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเป็นหน่วยบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้รวดเร็ว

 

ทั้งนี้ผู้ที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีดติดเชื้อโควิด-19 สีเขียว ที่มีอาการเล็กน้อยและเป็นกลุ่มที่ไม่มีภาวะเสี่ยงตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด สามารถรับยาสำหรับดูแลอาการเบื้องต้นได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการโดยร้านยาจะรับค่าใช้จ่ายกรณีบริการทางเภสัชกรรมในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มนี้ ตามหลักเกณฑ์ของ สปสช.ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา สำหรับอัตราค่าบริการจะเป็นการจ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 700 บาทต่อราย

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. เปิดเผยว่า AMED Telehealth ถือเป็น ‘ปฏิบัติการระบบหลังบ้าน’ ที่สำคัญของ Home Isolation เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) โดยผู้ที่ใช้แพลตฟอร์มนี้จะเป็นหน่วยที่ให้บริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลของ รัฐ/เอกชน คลินิก ที่มีแพทย์ พยาบาลหรือสหวิชาชีพ ที่สนใจใช้ติดตามอาการ รักษา ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดผ่านระบบ Telemonitoring, Telehealth, Teleconsultation ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ดึงร้านยาดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียว เชื่อมระบบ AMED Telehealth

เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ เป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่เน้นการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง ลดการเลื่อมล้ำและสามารถพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศ โดยระบบนี้เชื่อมข้อมูลส่งรายงานให้ สปสช. ได้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการส่งต่อให้หน่วยเบิกจ่ายอีก 2 หน่วย คือประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง 

 

ทั้งนี้โรงพยาบาล คลินิก เอกชน พื้นที่กทม.และปริมณฑลสนใจเปิดใช้งานระบบ ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่คุณสุกานดา สุธรรมกิตติวุฒิ มือถือ 081-880-1180 นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ กองสร้างเสริมสุขภาพ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสมในระบบ HI และ CI ของกรุงเทพมหานคร จำนวนผู้ป่วย HI/CI/SI (สะสม) 348,587 ราย (ข้อมูลวันที่ 8 เมษายน 2565)

 

ส่วนโรงพยาบาลรัฐ/เอกชน โรงพยาบาลสางเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิก พื้นที่ ต่างจังหวัด ติดต่อคุณวิยะดา สานาผา มือถือ 063-018-4875 สำนักดิจิทัลการแพทย์ กรมการแพทย์ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสมในระบบ HI และ CI ของกรมการแพทย์ จำนวนผู้ป่วย HI/CI/SI (สะสม) 357,326 ราย (ข้อมูลวันที่ 8 เมษายน 2565)

ด้าน ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากที่ไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง ซึ่งหากเข้าไปรับบริการแบบผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลก็อาจจะทำให้เกิดความแออัดขึ้นได้ ดังนั้นสภาเภสัชกรรมจึงร่วมกับ สปสช. จัดทำหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มารับยาและคำแนะนำต่างๆ โดยเภสัชกรที่ร้านยาได้ โดยต้องเป็นผู้ป่วยโควิด กลุ่มสีเขียวที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่ใช่หญิงตั้งครรภ์ ไม่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีโรคประจำตัว

 

และมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรค เช่น มีภาวะอ้วน เป็นต้น หากไม่เข้าเกณฑ์เหล่านี้สามารถโทรติดต่อหรือมาที่ร้านยา สแกน QR code เพื่อยืนยันตัวตนตามระบบของ สปสช.แล้วรับยาฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งร้านยาจะจัดเซ็ตยาสำหรับรักษาตามอาการส่งให้ที่บ้าน เช่น ฟ้าทะลายโจร พาราเซตามอล ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ ตลอดจนเกลือแร่สำหรับกรณีมีอาการท้องเสีย จากนั้นจะติดตามอาการไปอีก 48 ชั่วโมง และหากอาการรุนแรงมากขึ้นก็จะส่งต่อผู้ป่วยเข้าระบบเพื่อให้แพทย์รับช่วงดูแลต่อ

 

ภก.ปรีชา กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีร้านยาเข้าร่วมให้บริการประมาณ 700 แห่งทั่วประเทศ โดยผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถสังเกตสติ๊กเกอร์ที่หน้าร้านยาซึ่งจะมีข้อความว่า "สถานบริการเภสัชกรรมชุมชน" และบรรทัดล่างจะเขียนว่า "เครือข่ายเภสัชกรอาสาปรึกษาโควิดผ่านระบบเภสัชกรรมทางไกล" อีกทั้งขอให้มั่นใจว่าจะได้รับการบริการที่ได้มาตรฐาน เภสัชกรเป็นบุคลกรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องยา มีความคุ้นเคยกับอาการของโรคอย่างมาก สามารถให้บริการผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการได้เป็นอย่างดี โดยเหตุผลที่เราใช้ AMED Telehealth เป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงกับร้านยาที่เข้าร่วม ก็เพราะว่าทีมเภสัชกรส่วนหนึ่งเคยใช้งานระบบ AMED Telehealth ในการร่วมดูแลผู้ป่วย Home Isolation ของพริบตาคลินิก และ  รพ.ยะลา ได้เห็นการทำงานของระบบที่มีเมนูต่างๆครอบคลุมทุกกระบวนการของการดูแลผู้ป่วยโดยสหวิชาชีพ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยืนยันตัวบุคคล ( Authen ) การจ่ายยา การบันทึกประวัติ การทำรายงานต่างๆรวมไปถึงระบบการส่งเบิก ( e claim) 

 

โดยสรุปคือ AMED Telehealth เป็นระบบที่ใช้งานง่าย มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดคือความใส่ใจในการช่วยเหลือจากทีมงานของ A-MED สวทช  ที่คอยให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มใช้งานหรือแม้แต่ความต้องการเพิ่มเติมในการพัฒนาระบบในระหว่างการใช้งาน ทำให้ผู้ใช้งานคือเภสัชกรสามารถให้บริการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ได้อย่างมั่นใจ ไม่ต้องกังวลต่อเรื่องของข้อมูลต่างๆ

 

ภก.ปรีชา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันร้านยาในโครงการนี้สามารถให้บริการได้เฉพาะสิทธิบัตรทอง แต่ยังไม่รวมถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ดังนั้น จึงขอเชิญชวนไปยังสำนักงานประกันสังคมอำนวยความสะดวกและเพิ่มการเข้าถึงบริการแก่ผู้ประกันตน สามารถติดต่อมาที่สภาเภสัชกรรมเพื่อหารือแนวทางการร่วมมือกันต่อไปได้ ตรวจสอบรายชื่อร้านยาดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียว 'รับยา-ติดตามอาการตามระบบ ‘เจอ แจก จบ' ได้ที่นี่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง