"KBTG" แนะใช้ AI ผนวกหมอดันไทยฮับการแพทย์ภูมิภาค

25 ก.พ. 2566 | 11:04 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2566 | 11:04 น.

"KBTG" แนะใช้ AI ผนวกหมอดันไทยฮับการแพทย์ภูมิภาค ชี้โอกาสยังมีอีกมาก ระบุต้นทุนทางด้านการดูแลสุขภาพไทยโตกว่าทั่วโลกประมาณ 1.8 เท่า

นายเรืองโรจน์  พูนผล ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) บรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ "INNOVATION กับการพลิกโฉมเฮลท์แคร์ไทยสู่ความยั่งยืน" ในงาน THAN FORUM 2023 HEALTH AND WELLNESS SUSTAINABILITY ว่า โอกาสทางด้าน HEALTHCARE (การดูแลสุขภาพ)ในประเทศไทยมีอีกมาก โดยในลำดับแรกคือตลาดภายในประเทศใหญ่มาก ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ได้ทั้งหมด เพื่อพัฒนาเรื่องของคุณภาพ 

รวมถึงสามารถช่วยลดต้นทุนได้  โดยจากข้อมูลจะพบว่าประเทศไทยมีต้นทุนทางด้านการดูแลสุขภาพโตกว่าทั่วโลกประมาณ 1.8 เท่าในปี 2563 ส่วนอัตราแพทย์ต่อโรงพยาบาล หรือเตียงที่ใช้รองรับผู้ป่วยก็น้อยที่สุดในอาเซียน เมื่อเทียบกับเวียดนาม หรือประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งเป็นจ้อมูลของปี 2565 และเชื่อว่าในปี 2566 ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เห็นได้จากจำนวนของแพทย์ที่จบใหม่

ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าวเทคโนโลยีจะช่วยเข้ามาช่วยได้มาก อีกทั้งต้องเรียนว่าไม่ใช่เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ แต่เข้ามาช่วยสร้างแนวทาง (MPOWER) ให้กับแพทย์ โดยที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาช่วยเติมเต็ม และเพิ่มประสิทธิภาพของแพทย์ เนื่องจากหากใช้ AI อย่างเดียวคงจะมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เพราะบางครั้ง AI ก็ยังมีความผิดพลาดอยู่ในการให้คำแนะนำ

KBTG แนะใช้ AI ผนวกหมอดันไทยฮับการแพทย์ภูมิภาค อย่างไรก็ดี หากนำ AI มาผนวกเข้ากับแพทย์จะมีประสิทธิภาพอย่างมาก โดยเวลานี้สิ่งที่สำคัญคือการที่คนกับ AI และระบบการรักษาสามารถอยู่ร่วมกันโดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์  ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ลดต้นทุน และทำให้สามารถเข้าถึงคนได้เยอะมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับโอกาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังมีอีกมาก

"ประเทศไทยหากมีนโยบายที่ดี หรือชัดเจน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) หรือการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub )ในภูมิภาคสามารถทำได้อย่างแน่นอน เพราะแบรนด์ของไทยเมื่อเทียบกับในภูมิภาคก็ดีกว่า รวมถึงไทยเองก็เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ โดยจะเห็นได้จากผู้ป่วยที่เข้ามารักษาส่วนใหญ่จะเป็นระดับสูง ไม่ใช่มาเพราะราคาถูก แต่มาเพราะจ่ายในราคาที่ไม่สูงมาก แต่ได้รับบริการที่ดีที่สุด เรียกว่าโรงพยาบาลระดับโลกอยู่ที่ไทยเยอะมาก"

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนบุคคลากร (Capacity) ทางการแพทย์ที่ยังไม่เพียงพอ โดยเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไข   ซึ่งไทยจะต้องทำห่วงโซ่ระยะยาวให้การให้บริการเป็นแบบ 1 ต่อ 1 (N To N) ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ต้องส่งต่อหลายทอดทำให้เป็นแพลตฟอร์ม โดยจะต้องสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) และผนึกร่วมกัน หรือเรียกว่าเป็นการร้อยเรียงระบบการให้บริการทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ 

"รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อสร้างนโยบายขึ้นมาให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน เพราะทุกคนที่เข้ามาย่อมต้องการบริการแบบ N To N โดยประเทศไทยเองและคน แม้กระทั่งข้อมูลพื้นฐานทางด้านสุขภาพจะต้องแบ่งเป็น หรือแชร์กันได้ทั้งหมด หรือกล่าวง่ายๆก็คือต้องวางพื้นฐานให้ถูกต้องก่อน ให้คนเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพได้อย่างทั่วถึง พร้อมข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย"

นายเรืองโรจน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาด้านสุขภาพ หากไม่แก้ทั้งหมด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบ รวมถึงไม่มีการร่วมมือกันทั้งในรูปแบบที่เป็นสาธารณะและส่วนตัว และสร้างทำนโยบายที่เป็นอนาคต ประเทศไทยจะไม่มีทางเปลี่ยน