ภาคีเครือข่ายสุขภาพ ชมรัฐเก็บภาษีน้ำตาล ลุ้นเมษาฯ ปรับขึ้นเฟส 3

24 ก.พ. 2566 | 15:33 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2566 | 15:43 น.

ของขวัญสุขภาพที่รัฐบาลให้ประชาชน เป็นผลงานเด่นหลังขึ้นภาษีน้ำตาล สมาคมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ชงเดินหน้าต่อ หนุนรัฐขึ้นภาษีเฟส 3 ตามกำหนด ยกงานวิจัยชี้ชัดเก็บภาษี รายได้ไหลเข้ารัฐต่อเนื่อง - ภาคอุตฯ ปรับตัวออกสูตรเครื่องดื่มหวานน้อย ส่งผลคนไทยบริโภคน้ำตาลลดลง

หลังจากประเทศไทยได้ออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560  ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 ในการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มโดยจัดเก็บอัตราตามมูลค่าและตามปริมาณน้ำตาลของเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

รวมทั้งจัดเก็บภาษีตามปริมาณน้ำตาลของเครื่องดื่มผงและเครื่องดื่มเข้มข้นเพิ่มเติม โดยภาษีจะเพิ่มขึ้น และปรับเพิ่มภาษีทุก 2 ปีจนถึงปี 2564 โดยเก็บภาษีหลังการออกมาตรการในปีแรกที่ปริมาณน้ำตาล 10% และปรับเพิ่มภาษีทุก 2 ปี จนถึงปี 2568 จะเก็บที่ปริมาณน้ำตาล 6% นั้น

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม  กรรมการสมาคมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และผู้จัดการโครงการเครื่อข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สนับสนุนโดยสำนักงานกอวทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเก็บภาษีน้ำตาล เฟส 3 ในเดือนเมษายน 2566 ว่า  ที่ผ่านมา ต้องขอบคุณรัฐบาลที่จริงจังเก็บภาษีน้ำตาล และหากรัฐบาลเก็บภาษีน้ำตาลตามขั้นตอนจะทำให้แนวโน้ม NCDs ลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมาตรการทางภาษีแม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็ทำให้คนไทยบริโภคน้ำตาลลดลง ซึ่งได้ผลดีต่อสุขภาพ  

ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม

“ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ สนับสนุนงานวิจัยเรื่องมาตรการภาษีกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผลงานวิจัยที่ออกมา ชี้ชัดว่า ตั้งแต่ปี 2561 เริ่มจัดเก็บภาษีความหวาน หรือภาษีน้ำตาลช่วงที่ 1  จนปี 2562 จัดเก็บภาษีความหวานช่วงที่ 2  พบว่า ภาพรวมรายได้ภาษีของประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแม้ว่า การขึ้นภาษีจะไม่มีผลต่อราคาขายปลีกในปีแรกๆ แต่มาตรการภาษีก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม มีการปรับตัวโดยปรับสูตรเครื่องดื่มให้มีน้ำตาลเข้าใกล้ 6 กรัม การบริโภคน้ำตาลทางอ้อมของไทยลดลงในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อาหาร และผลิตภัณฑ์นม  นี่คืองานวิจัยที่ตอกย้ำความสำเร็จของมาตรการภาษี” กรรมการสมาคมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ระบุ และว่า ฉะนั้น กระแสข่าวที่ขณะนี้รัฐบาลกำลังทำเรื่องไปยังกระทรวงการคลังให้ชะลอการเก็บภาษีน้ำตาลเฟส 3 ออกไป ทางเครือข่ายฯ อยากให้ทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง 

ทพญ.ปิยะดา กล่าวถึงการใช้นโยบายการคลังเพื่อเก็บภาษีสินค้าเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลในปริมาณสูงว่า น้ำตาลเป็นส่วนประกอบของอาหารที่หากบริโภคมากไปจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ฟันผุ โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด โดยองค์การอนามัยโลก มีคำแนะนำว่า บุคคลไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 50 กรัม/วัน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่เกิดจากน้ำตาลเช่น โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด หรือบริโภคน้ำตาล (added sugar) ในปริมาณไม่เกิน 25 กรัม/วัน (ประมาณ 6ช้อนชา) เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง  
 

และจากข้อมูลใน พ.ศ.2564 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 23.7 ช้อนชา/วัน ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 4 เท่า ทพญ.ปิยะดา กล่าวว่า ฉะนั้น มาตรการภาษีและราคา เป็นหนึ่งมาตรการที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ได้ผลดีในการจัดการปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีความคุ้นทุน มีต้นทุนต่ำ และสามารถขยายผลได้ 


 “ของขวัญสุขภาพที่รัฐบาลให้ประชาชน เป็นผลงานที่ชัดเจนหลังขึ้นภาษี เป็นผลงานที่ทำให้ไทยได้รางวัล  United Nations Inter-Agency Task Force (UNIATF Award) on the Prevention and Control of Non-communicable Diseases ในการประชุม side event ของการประชุมองค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 76  เมื่อปี 2564  โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัลในหมวดภาครัฐด้านสาธารณสุข ที่มีผลงานโดดเด่นในการผลักดันนโยบาย “ภาษีเครื่องดื่ม” ที่มีส่วนผสมของน้ำตาล ลดการบริโภคน้ำตาลในประชากรไทย  ซึ่งผู้นำในภูมิภาคอาเซียน อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์กำลังเริ่มจัดเก็บภาษีน้ำตาลแบบบ้านเรา”


สำหรับการดำเนินงานการขับเคลื่อนมาตรการจัดเก็บภาษีน้ำตาลในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาวะคนไทยที่ผ่านมา ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลใน 3 ประเด็น ได้แก่ 
1) ในภาพรวมราคาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่ผลิตในประเทศ และนำเข้ามีราคาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.7 และ 18.1 ตามลำดับ 
2) เครื่องดื่มที่ผลิตในประเทศมีสัดส่วนจำนวนชนิดของเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ในขณะที่เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงมีสัดส่วนลดลง โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากกว่า 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร มีสัดส่วนลดลงมากที่สุด 
และ 3) สัดส่วนรายได้จากภาษีเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตทั้งหมด 


ทั้งนี้ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยผลการศึกษาปริมาณเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลที่ดื่มเฉลี่ยต่อวันในกลุ่มประชากรไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป เมื่อปี 2563 พบกลุ่มตัวอย่างมีการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลลดลงจาก 283.6 มิลลิลิตร ในปี 2561 เป็น 275.8 มิลลิลิตร

ในปี 2562 หรือลดลงร้อยละ 2.8 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีการบริโภคลดลงสูงสุด ร้อยละ 7.2 โดยเครื่องดื่มที่มีการบริโภคลดลงมากที่สุดพบว่า เครื่องดื่มผสมโซดาแบบกระป๋องมีสัดส่วนการบริโภคลดลงมากที่สุด ร้อยละ 17.7 ตามด้วยเครื่องดื่มสมุนไพร ร้อยละ 10.0 และน้ำผลไม้แบบกล่อง ร้อยละ 9.2 ตามลำดับ