ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกฯ ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 97 ปี

23 ก.พ. 2568 | 21:15 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.พ. 2568 | 21:48 น.

อาลัย "ธานินทร์ กรัยวิเชียร" อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของไทยและองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 97 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ได้ถึงแก่อสัญกรรม สิริอายุ 97 ปี ทั้งนี้ ครอบครัวจะได้แจ้งกำหนดการพระราชทานเพลิงศพและพิธีทางศาสนาต่อไป

ประวัติ ธานินทร์ กรัยวิเชียร

ศาสตราจารย์พิเศษ ธานินทร์ กรัยวิเชียร เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2470 ที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

จากนั้น พ.ศ. 2491 ศึกษาวิชากฏหมายต่อที่ ณ มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ พ.ศ 2496 เนติบัณฑิตอังกฤษจาก สำนักอบรมศึกษากฏหมายของเนติบัณฑิตยสภา

ก่อนเข้าสู่เวทีการเมือง เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศไทย ภายหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินโดยการนำของ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของนายธานินทร์ ถูกโค่นล้มจากการรัฐประหารโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520

ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลของธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยนโยบายที่โดดเด่น คือ การต่อต้านภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างสูงในขณะนั้นนโยบายการปราบปรามยาเสพติดโดยได้จัดตั้ง "สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด" หรือ ปปส.ขึ้น รวมถึงนโยบายด้านการปราบปรามคอรัปชั่น 

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่คณะปฏิวัติได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลของธานินทร์แล้ว พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายธานินทร์ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีและได้ดำรงตำแหน่งนี้มาจนสิ้นรัชกาล ขณะที่ก่อนหน้านั้นได้รับแต่งตั้งเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2516 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะปฏิบัติหน้าที่องคมนตรีในคราวเดียวกันไม่ได้ ดังนั้น คณะองคมนตรีจึงได้มีมติเลือกธานินทร์ ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ประธานองคมนตรี