ระยะแพร่เชื้อโควิดคือช่วงเวลาไหน ต้องแยกตัวกี่วันถึงจะปลอดภัย เช็คเลย

11 ต.ค. 2565 | 09:01 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2565 | 16:01 น.
681

ระยะแพร่เชื้อโควิดคือช่วงเวลาไหน ต้องแยกตัวกี่วันถึงจะปลอดภัย เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผยผลศึกษาของ Marquez C และคณะจากสหรัฐอเมริกา

ระยะแพร่เชื้อโควิดคือช่วงเวลาไหน ต้องแยกตัวกี่วัน ยังคงเป็นประเด็นคำถามที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง

 

แม้ว่าโควิด19 ในประเทศไทยจะถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 เป็นต้นมา

 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

อัพเดตความรู้เรื่องโควิด-19

 

"การแยกตัวจากคนอื่นมีความจำเป็น"

 

หมอธีระ ระบุด้วยว่า Marquez C และคณะจากสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาอาการและระยะเวลาในการตรวจพบ rapid antigen test เป็นผลบวก ในกลุ่มประชากรจำนวน 63,277 คน เพื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงที่ Omicron ระบาด กับช่วงเดลตาและก่อนเดลตา

 

พบว่า อาการไอ เจ็บคอ และคัดจมูกนั้นจะพบในช่วง Omicron (โอมิครอน) มากกว่า ในขณะที่ไข้ ลิ้นรับรสผิดปกติ และอาการดมไม่ได้กลิ่นนั้นพบน้อยลงกว่าช่วงเดลตาและก่อนเดลตา

เรื่องสำคัญที่ศึกษาพบคือ ผู้ที่ติดเชื้อและมีอาการนั้นแม้จะผ่านไป 5 วัน ก็ยังตรวจ rapid antigen test (ATK) ได้ผลบวกอยู่ถึง 80.2%

 

ในขณะที่หากติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ก็ยังคงได้ผลบวกสูงเกือบ 60%

 

ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับการวิจัยอื่นๆ ที่เคยทำการพิสูจน์ให้เห็นว่าหากติดเชื้อแล้วจำเป็นต้องแยกตัวจากผู้อื่นให้นานเพียงพอ 

 

หมอธีระ ยังบอกอีกว่า ในทางปฏิบัติ จึงแนะนำให้แยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน จนกว่าจะไม่มีอาการและตรวจได้ผลลบ จึงออกมาใช้ชีวิตโดยป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 14 วัน

 

ระยะแพร่เชื้อโควิดคือช่วงเวลาไหน ต้องแยกตัวกี่วันถึงจะปลอดภัย

 

"คาดประมาณจำนวนผู้ป่วย Long COVID"

 

ทีมงาน IHME จากสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ ได้ทำการคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID ทั่วโลก โดยใช้ฐานข้อมูลประชากรกว่า 1.2 ล้านคนจาก 22 ประเทศเป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำโมเดลคาดประมาณ

 

ที่น่าสนใจคือมีการคาดประมาณจำนวนผู้ป่วย Long COVID ในประเทศไทยโดยคำนวณจากจำนวนผู้ติดเชื้อแบบมีอาการราว 5.95 ล้านคน พบว่า

 

ในปีพ.ศ.2563 อาจมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID ราว 2,700 คน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 360-9,020 คน) และปีพ.ศ.2564 มีราว 274,000 คน (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 94,700-693,000 คน)

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นอาจต่ำกว่าที่เป็นจริง เพราะอิงตามรายงานตัวเลขที่ประกาศออกมา ดังที่ทราบกันดีว่า ตัวเลขติดเชื้อจริงสูงกว่าที่รายงาน เพราะมีคนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อด้วย ATK โดยไม่ได้รวมอยู่ในระบบรายงานจำนวนมาก 

 

การป้องกันภาวะ Long COVID ที่ดีที่สุดคือ ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

 

คนที่เคยติดมาก่อน ควรหมั่นตรวจสอบสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะเกิดได้ทุกเพศทุกวัย และความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติต่างๆ นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่ายาวนานไปกว่า 12 เดือน ทั้งในระบบหัวใจและหลอดเลือ สมองและระบบประสาท และอื่นๆ

 

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก