วัคซีนไฟเซอร์เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 เทคโนโลยี mRNA ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ฉีดแล้วมากมายทั่วโลก
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญก็คือประสิทธิภาพในการป้องโควืดสายพันธุ์ต่างๆจะเป็นอย่างไร
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana โดยระบุข้อความว่า
งานวิจัยจากทีมของ Pasteur Institute ของฝรั่งเศส ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Med ออกมาระบุว่า
ระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มที่ยับยั้งไวรัสแต่ละสายพันธุ์หลังได้วัคซีน Pfizer เข็ม 3 จะไม่เท่ากัน
โดยภูมิต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่ได้นานกว่า 11 เดือน
ขณะที่ภูมิต่อ BA.1 หมดที่ 8 เดือน
ส่วน BA.5 ตกหายหมดที่ 5 เดือน
แต่ถ้าได้รับวัคซีนและติดเชื้อ BA.1 หรือ BA.2 ตามมาหลังจากนั้น ภูมิคุ้มกันในซีรั่มจะพบว่าอยู่ในระดับที่สูง
และอยู่ในระดับที่ตกลงอย่างช้าๆ หลังติดเชื้อ 6 เดือน ยังสามารถตรวจพบภูมิยับยั้งไวรัส BA.5 ในระดับที่สูงอยู่
ดร.อนันต์ บอกอีกว่า นอกจากภูมิที่พบในซีรั่มแล้ว ระดับแอนติบอดีที่อยู่ในจมูกสามารถตรวจพบได้ในกรณีที่เคยติดเชื้อมาเท่านั้น
ภูมิจากวัคซีนไม่สามารถตรวจพบภูมิที่สามารถยับยั้งไวรัสในจมูกได้
สำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อหลังได้เข็มกระตุ้นที่ 3 มา 5 เดือน จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกระตุ้นอีกครั้ง (ถ้าได้วัคซีนสูตรใหม่ที่มี BA.5 อยู่ด้วยจะดีมาก)
ส่วนผู้ที่ติดเชื้อมาการกระตุ้นภูมิอาจต้องพิจารณายืดเวลาออกไป
เพราะระดับของภูมิที่สูงอยู่จะยับยั้งการทำงานของวัคซีนให้มีประสิทธิภาพที่ลดลงได้