รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ
การระบาดในเยอรมัน
Gerstung M จากมหาวิทยาลัย Heidelberg ประเทศเยอรมัน ได้ชี้ให้เห็นว่า การระบาดปะทุใหม่ตอนนี้ สายพันธุ์ที่ระบาดยังเป็น BA.5 BA.5.x เช่นเดิม ซึ่งน่าจะมาจากเรื่องของภูมิคุ้มกันที่ลดลง และการใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ป้องกัน สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป
ดังนั้นไทยเราจึงต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิตประจำวันให้ดี เพราะจะมีการระบาดมากขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ด้วยเหตุผลเดียวกัน
6 ตุลาคม 2565...
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 355,246 คน ตายเพิ่ม 759 คน รวมแล้วติดไป 624,600,039 คน เสียชีวิตรวม 6,553,899 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส ไต้หวัน อิตาลี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 95.14% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 77.33%
สถานการณ์ระบาดของไทย ไม่มีรายงานประจำวันทั้งเรื่องป่วยและเสียชีวิต ทำให้ไม่สามารถประเมินได้
Long COVID ในอเมริกา
US Census Bureau ได้เผยแพร่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้ 5 ตุลาคม 2565
พบว่า ราวหนึ่งในสามของผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเคยประสบปัญหา Long COVID (29.6%)
โดยในจำนวนนี้ มีถึงเกือบ 80% ที่รายงานว่ากระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
และหนึ่งในสี่ (25.1%) ที่แจ้งว่ากระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก
ณ ปัจจุบัน มี 15% ของผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่รายงานว่ากำลังมีอาการของ Long COVID อยู่
รายงานสำรวจของอเมริกานี้ สัดส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิตประจำวันจากการประสบปัญหา Long COVID นั้นคล้ายกับผลการสำรวจในสหราชอาณาจักร
ตอกย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด