แบงก์รุกบ้านแลกเงิน หลังสินเชื่อใหม่หดตัว

19 ก.พ. 2568 | 15:26 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2568 | 15:27 น.

กสิกรไทยชี้ แนวโน้มแบงก์หันมาปล่อยสินเชื่อบ้านแลกเงินมากขึ้น หลังเห็นสัญญาณโตต่อเนื่อง สวนทางสินเชื่อบ้านที่หดตัว ลุ้นครึ่งหลังปี 68 ทั้งสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่และยอดคงค้างกลับมาเติบโต แม้ครึ่งแรกยังซึมๆ

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เดือนธ.ค.2567 พบว่า สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย(Post finance) มียอดคงค้าง 2,740,487 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9,345 ล้านบาทหรือ 0.34% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 2,731,142 ล้านบาท  

ขณะที่่มูลค่าสินเชื่อปล่อยใหม่ 92,316 ล้านบาท ลดลง 2,155 ล้านบาทหรือ 2.28% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 94,471 ล้านบาท โดยที่่สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่/มือสองหดตัว 0.72%และสินเชื่อ Refinance หดตัวถึง 7.98%

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย จำกัดเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทิศทางสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ปี 2568 เชื่อว่า สถาบันการเงินหลายแห่งจะหันมาบุก สินเชื่อบ้านแลกเงินมากขึ้น เนื่องจากยังมีโอกาสเติบโตได้ และจะยังเติบโตกว่าสินเชื่อบ้านต่อไป โดยอาจจะรักษาการเติบโตในระดับ 8-10% ได้ 

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทย

“ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ค่อยดี ภาพรวมยอดสินเชื่อใหม่น่าจะเติบโตติดลบเป็นตัวเลขสองหลัก และส่วนตัวมีข้อสังเกตุว่า รอบ 9เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดสินชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกันหรือบ้านแลกเงิน ของธนาคารพาณิชย์ เติบโตดีกว่าสินเชื่อบ้านมาก”

ทั้งนี้จะเห็นว่า สินเชื่อบ้านแลกเงินช่วง 9 เดือนอยู่ที่ 5.44 หมื่นล้าน ขณะที่ ปี2567 ขยับอยู่ที่ 5.93 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 9% ขณะที่สินเชื่อบ้านของธนาคารพาณิชย์ 9 เดือนแรก ปี2566 มีจำนวน 2.925 แสนล้านบาท ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ 2.688 แสนล้านบาทคิดเป็นอัตราการเติบโตติดลบ 8% 

ในส่วนของกสิกรไทย ยังคงพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าและให้น้ำหนักคุณภาพของลูกค้าจากรายได้ที่มีความมั่นคง เพื่อให้สามารถรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างภาพรวมทั้งปีน่าจะเติบโตเล็กน้อย ไม่ถึง 1%

"ครึ่งแรกของปีนี้น่าจะยังซึมๆ แต่แนวโน้มครึ่งปีหลังยังมีความหวังว่า กำลังซื้อน่าจะกลับมาเติบโตดีขึ้นได้ทั้งมุมสินเชื่อปล่อยใหม่และยอดสินเชื่อคงค้าง และส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปี 2567" 

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ 1ใน 6 แห่งที่มีความสำคัญต่อระบบในประเทศ(D-SIBs)กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปี2568 น่าจะเติบโตต่ำกว่า 1% หรืออาจจะบวกอ่อนๆ ตามความต้องการสินเชื่อใหม่ที่มีแนวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดของกำลังซื้อ ขณะที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่พยายามจะเน้นกลุ่มลูกค้าระดับบน

โดยเฉพาะปีนี้กลุ่มที่ตัดสินใจซื้อบ้านที่ราคาเกิน 5 ล้านบาทขึ้นไปจะเติบโตดี จากเมื่อก่อนจะเป็นกลุ่ม 3-5ล้านบาท และคนตัดสินใจซื้อบ้านปีนี้ จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้เกินกว่า 5 ล้านบาทต่อเดือน และผู้ประกอบการอสังหาฯเองปรับกลยุทธ์ให้โปรดักต์ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่ยื่นกู้ผ่านด้วย 

ส่วนแนวโน้มการปฎิเสธการอนุมัติสินเชื่อแหล่งข่าวระบุว่า สัญญาณผู้กู้ถูกปฎิเสธสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทพบว่า ภาระหนี้ต่อรายได้(DSR) เพิ่มขึ้น 8-10% ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่ จะพิจารณาเกณฑ์รายได้ของกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ต่ำกว่า 50,000บาทต่อเดือน เกิน 50,000บาทต่อเดือน หรือ 70,000บาทต่อเดือน มากกว่า 70,000บาทต่อเดือน 

แบงก์รุกบ้านแลกเงิน หลังสินเชื่อใหม่หดตัว

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ตอนนี้ในกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000บาทต่อเดือน ความต้องการสินเชื่อจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่า 60%จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 50% ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เข้ามายื่นสมัครสินเชื่อและถูกปฎิเสธ เพราะ DSR ที่สูงขึ้น สะท้อนว่า ทั้งกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3หมื่นบาทต่อเดือนและรายได้ต่ำกว่า 50,000บาทต่อเดือนนั้นอาจจะมีรายได้ที่ลดลง 

“ปีก่อนๆ คนจะตัดสินใจซื้อบ้านระดับราคา 3-5ล้านบาท แต่ปี2567 ที่ผ่านมา บ้านราคาเกิน 5ล้านบาทเติบโตดี ซึ่งน่าจะเป็นผลจากผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

ทั้งกลุ่มไฮเอน กลุ่มรักษาสุขภาพ กลุ่มผู้สูงอายุ หรือรักสัตว์ โดยจัดเป็นศูนย์ Wellness /สปา แทนดีไซน์เดิมที่เป็นสโมสร หรือดีไซน์โครงการที่ไม่เหมือนใคร และธนาคารโฟกัสกลุ่มลูกค้าระดับบน เช่น ราคาบ้านมากกว่า 5ล้านบาท เน้นคนที่ยื่นกู้ผ่านด้วย” 

ทั้งนี้ หลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมหรือพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการ โดยมอบสิทธิให้กับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ว่าเพศใดสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมายดังกล่าว

นับเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาดสำหรับผู้ประกอบการอสังหาฯและสถาบันการเงินทำแคมเปญสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ ให้มีบ้าน 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กลุ่ม LGBTQ มีการใช้สินเชื่อกับสถาบันการเงินในการซื้อที่อยู่อาศัยแต่พบว่า กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ค่อนข้างสูง

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากคู่เพื่อนกลุ่มนี้มีอัตราการหย่าร้างไม่แตกต่างจากคู่ชาย-หญิง เพียงแต่ข้อมูลไม่ปรากฎเป็นทางการเท่านั้น  แต่ภายใต้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินทำแคมเปญสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ จะเป็นโอกาสในการสร้างความมั่นคงสำหรับคู่เพื่อนมากขึ้น

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,072 วันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568