"กู้ร่วม" ทางเลือกเพิ่มโอกาสมีบ้าน กับข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจ

14 ก.พ. 2568 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2568 | 11:36 น.

สินเชื่อบ้านทีทีบี แนะข้อควรรู้เกี่ยวกับการ "กู้ร่วม" กู้ร่วมคืออะไร? อยากกู้ร่วมซื้อบ้าน ต้องรู้อะไรบ้าง? ใครกู้ร่วมได้บ้าง? อ่านรายละเอียดทั้งหมดที่นี่

เดือนกุมภาพันธ์เดือนแห่งความรัก อาจเป็นช่วงเวลาที่หลายคู่รักเริ่มต้นวางแผนอนาคตร่วมกัน หนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือการมีบ้านเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านหรือคอนโดฯ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายหากขาดวงเงินกู้ที่เพียงพอ "การกู้ร่วม" จึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ได้วงเงินกู้สูงขึ้น และเพิ่มโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารง่ายขึ้น

สินเชื่อบ้านทีทีบี (ttb) แนะนำให้ผู้ที่สนใจซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ร่วมให้เข้าใจอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ เนื่องจากการกู้ร่วมคือการขอสินเชื่อร่วมกัน โดยผู้กู้ทุกคนต้องรับผิดชอบหนี้ร่วมกัน ธนาคารจึงมีความมั่นใจว่าสามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด

โดยปกติแล้วการกู้ร่วมจะกู้ร่วมได้ไม่เกิน 3 คน คือ ผู้กู้หลัก 1 คน และ กู้ร่วมสูงสุด 2 คน ธนาคารมักอนุมัติการกู้ร่วมให้กับบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เช่น พ่อแม่-ลูก พี่น้อง รวมถึงคู่รักทุกคู่ ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรสตามกฎหมายหรือคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ต้องแสดงหลักฐานการเป็นคู่รักกัน เช่น ภาพถ่าย หรือหนังสือรับรองบุตร ซึ่งสามารถยื่นขอสินเชื่อร่วมกันได้เช่นเดียวกัน

\"กู้ร่วม\" ทางเลือกเพิ่มโอกาสมีบ้าน กับข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจ

ข้อดีของการกู้ร่วม

  • เพิ่มโอกาสอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้กู้หลักอาจมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์
  • ได้วงเงินกู้สูงขึ้น ช่วยให้สามารถซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
  • แบ่งเบาภาระการผ่อนชำระ ลดความเสี่ยงในการผ่อนคนเดียว

ข้อควรระวังในการกู้ร่วม

แม้ว่าการกู้ร่วมจะช่วยเพิ่มโอกาสมีบ้านในฝัน แต่ก็มีข้อควรพิจารณา เช่น

  • ภาระหนี้ร่วมกัน ซึ่งหากหนึ่งในผู้กู้ไม่สามารถผ่อนชำระได้ อีกฝ่ายต้องรับผิดชอบหนี้แทน
  • กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ สามารถถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันหรือระบุชื่อเฉพาะบุคคลก็ได้ ควรตกลงกันก่อนซื้อ
  • การใช้สิทธิลดหย่อนภาษี สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้
  • กรณีผู้กู้ร่วมเสียชีวิตจะต้องแจ้งธนาคาร มิเช่นนั้นสัญญาจะไม่เปลี่ยนแปลง จากนั้นทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิต (ที่ธนาคารประเมินแล้วว่าสามารถจ่ายหนี้ได้) จะเข้ามารับช่วงต่อการผ่อนชำระ

เอกสารที่ต้องใช้ในการกู้ร่วม

  • บัตรประชาชนของผู้กู้ร่วมทั้งสองคน
  • สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือนของผู้กู้ร่วมทั้งสองคน
  • เอกสารรับรองการทำงานของผู้กู้ร่วมทั้งสองคน
  • หลักฐานการเดินบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน
  • สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน
  • ทะเบียนสมรส (กรณีแต่งงานแล้ว)
  • หนังสือยินยอมคู่สมรส (กรณีที่ทรัพย์สินเป็นสินเดิม)

สำหรับผู้ที่ต้องการยกเลิกการกู้ร่วม สามารถทำได้หากธนาคารพิจารณาแล้วว่าผู้กู้ที่เหลือสามารถผ่อนชำระได้ แต่ถ้าหากธนาคารพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้ที่เหลือว่าไม่ได้ จำเป็นหาผู้กู้ร่วมคนใหม่มาทดแทน

แม้ว่าการกู้ร่วมเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับอนุมัติสินเชื่อและแบ่งเบาภาระทางการเงิน แต่ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนตัดสินใจ ควรศึกษาข้อกำหนด เงื่อนไข และวางแผนทางการเงินร่วมกันอย่างรอบด้าน เพื่อให้การเป็นเจ้าของบ้านหรือคอนโดเป็นไปอย่างราบรื่นและมั่นคงในระยะยาว

 

ที่มา เว็บไซต์ทีเอ็มบีธนชาต (ttb)