สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยการคาดการณ์ของภาวะเศรษฐกิจไทยในปีพ.ศ.2568 ว่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 2.3-3.3% หรือถ้าเป็นการระบุแบบชัดเจนคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.8% มากกว่าปีพ.ศ.2567 อยู่ที่ 2.5% ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักที่มีผลให้ภาวะเศรษฐกิจของปีพ.ศ.2568 มีความเป็นไปได้ที่จะมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว มีทั้งเรื่องในประเทศ และต่างประเทศ
เช่น การใช้จ่ายของภาครัฐบาลที่มากขึ้นเพราะงบประมาณที่จะใช้จ่ายมากกว่าปีก่อนหน้านี้ การใช้จ่ายของภาคเอกชนมีความเป็นไปได้ที่จะมากขึ้นแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจอาจจะยังไม่อยู่ในจุดที่ดีก็ตาม
การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและมีความเป็นไปได้ที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยมากกว่าปีที่แล้ว การส่งออกที่อาจจะมีการขยายตัวสูงขึ้นแม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องของสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกากับประเทศต่างๆ แต่อาจจะเป็นผลดีกับประเทศไทยที่อาจจะมีการส่งออกสินค้าบางอย่างไปทดแทนสินค้าที่เจอกับกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกา
แต่ความเสี่ยงในระดับโลกซึ่งอาจจะมีผลกับภาวะเศรษฐกิจของโลกหรือบางประเทศ เช่น การดำเนินนโยบายของสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งในบางภูมิภาคที่อาจจะมีผลต่อราคานํ้ามัน การส่งออกของสินค้าเกษตรในบางประเทศอาจจะลับมาสู่ภาวะปกติหลังจากเจอภัยธรรมชาติไปก่อนหน้านี้ซึ่งจะมีผลให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง แต่ที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด และมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องกำลังซื้อในประเทศ คือ ภาวะของหนี้ครัวเรือนที่สูงมากของคนไทย
หนี้ครัวเรือนของคนไทย ณ ไตรมาสที่ 3 พ.ศ.2567 อยู่ที่ประมาณ 89% ของGDP อาจจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีพ.ศ.2566 แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLs ปรับเพิ่มขึ้นในทุกๆ วัตถุประสงค์หรือประเภทของสินเชื่อ ซึ่งแน่นอนว่าการที่หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงมีผลต่อการใช้จ่ายของคนไทยแน่นอน
เนื่องจากต้องใช้เงินส่วนหนึ่งเพื่อการชำระหนี้สิน รวมไปถึงคนจำนวนหนึ่งมีปัญหาในการชำระคืนหนี้สินและมีปัญหากับสถาบันการเงินจนอาจจะไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สุดท้ายแล้วปัญหาที่คนไทยที่มีปัญหาหนี้สินเจอทั้งในกลุ่มที่ยังมีความสามารถในการผ่อนชำระได้ และกลุ่มที่มีปัญหากับสถาบันการเงินจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของที่มีมูลค่าสูงรวมไปถึงที่อยู่อาศัยด้วย ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือนกลายเป็น หนึ่ง ในปัญหาที่มีผลต่อขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก
ทั้งการที่สถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อ หรือให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยในมูลค่าที่ตํ่ากว่ามูลค่าที่อยู่อาศัย ซึ่งแน่นอนว่ามีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ดังนั้น การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปีพ.ศ.2568 เป็นไปได้ที่อาจจะไม่แตกต่างจากปีพ.ศ.2567 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวมากขึ้นก็ตาม เพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการซื้อที่อยู่อาศัยอาจจะไม่ได้มีการปรับตัวที่ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปัจจัยอื่นๆ
ที่มีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม กลุ่มผู้ประกอบการอาจจะมีการกระตุ้นกำลังซื้อด้วยโปรโมชั่นต่างๆ และการลดราคาบ้าง แต่สุดท้ายแล้วถ้าไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาลก็อาจจะไม่สามารถกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจระยะยาวได้
หน้า 20 ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,073 วันที่ 23 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568