ธนาคารแห่งประเทศไทย ชู 4 มาตรการรับมือเศรษฐกิจไทยสะดุด

11 ม.ค. 2565 | 19:33 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ม.ค. 2565 | 03:23 น.

ธปท.เล็งเปิดเฮียร์ริ่ง 2ก.พ.2565 หวังวางรากฐานระบบการเงินไทยสู่เสถียรภาพความยั่งยืน -รับเทรนด์ Digital และGreen Economy

วันที่ 11มกราคม 2565  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Meet the Press โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท.ได้อธิบายเกี่ยวกับโจทย์เฉพาะหน้าของธปท.ในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่ให้สะดุด   ภายใต้ความผันผวนของโลก และความไม่แน่นอน

ธนาคารแห่งประเทศไทย ชู 4 มาตรการรับมือเศรษฐกิจไทยสะดุด

โดยระบุว่า  เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีความเปราะบาง จากสัญญาณการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน (K Shape)ส่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่เร็ว  โดยตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาในระดับก่อนโควิดได้ในราวไตรมาส 1ปี2566   เพราะไทยยังพึ่งพาการส่งออก และการท่องเที่ยว  โดยเฉพาะความรู้สึกในแง่ของรายได้และการจ้างงานที่ยังไม่กลับมา

 

ในแง่ของความเสี่ยงที่มีโอกาสจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุดนั้น ธปท.ได้เตรียมเครื่องมือเพื่อการรับมือในระยะข้างหน้าอย่างเพียงพอเพื่อให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นไปได้ภายใต้ความเสี่ยง 4เรื่องได้แก่

1.การระบาดของโอมิครอน ธปท.ประเมินว่า ภายใต้สมมติฐาน โอมิครอนมาเร็วและไปเร็วโดยไม่ขยายพันธุ์หรือยืดเยื้อ โอกาสที่จะสะดุดไม่มาก โดยความว่าสถานการณ์โอมิครอนจะจบได้ในครึ่งแรกของปีนี้   แต่เนื่องจากยังมีปัจจัยด้านต่างประเทศด้วย ถ้าโอมิครอนยังไม่จบหรือกลายพันธุ์ก็มีโอกาสที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะสดุดในครึ่งหลังของปีนี้

“โจทย์แรกที่เราจะทำให้ไม่เกิดการสะดุดและผ่านได้ คือ ระบบแบงก์ยังทำหน้าที่ได้ทั้งในแง่ของการเติบโตของสินเชื่อและธปท.ออกมาตรการต่างๆเพื่อให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นไปได้

เช่นปีที่ผ่านมาสินเชื่อยังเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับอดีต เทียบกับบริบทเศรษฐกิจปัจจุบันและเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการดูแลภาระหนี้เดิมโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี่ระยะยาวภายใต้มาตรการ 3ก.ย.64โดยใหน้ำหนักกับexecution และ Implementเพื่อผลักดันแต่ละมาตรการให้เกิดเป็นรูปธรรม”

2.เรื่องเงินเฟ้อ แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นโดยค่าครองชีพสูงขึ้นขณะที่รายได้ยังไม่เพิ่ม แต่ธปท.ยังมองเงินเฟ้อของไทยแม้จะเพิ่มขึ้นแต่ไม่สูงมากโดยมองเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 1.7% และ 1.4%ในปีหน้าซึ่งยังไม่ถึง 2.0% และจากผลสำรวจผู้ประกอบการยังไม่เห็นการกระจายตัวของระดับราคา  สะท้อนโอกาสที่จะสะดุดจากเงินเฟ้อนั้นมีไม่มาก  แต่ธปท.ไม่ชะล่าใจโดยมีนโยบายรองรับถ้าเงินเฟ้อจะหลุดกรอบ(กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3%)

3.มาตรการรองรับการตกหน้าผาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL Cliff)  ซึ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน

“ ธปท.มองว่า เอ็นพีแอลยังทยอยเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจแต่มีโอกาสน้อยที่จะเกิดNPL Cliff  เพราะเรามองเผื่อไว้โดยออกมาตรการระมัดระวังเพื่อมิให้เกิดการสะดุด”

นอกจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวเพื่อความยั่งยืนแล้ว เร็วๆนี้เตรียมจะออกเกณฑ์สนับสนุนการร่วมทุนระหว่างธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือJV AMC ซึ่งเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยลูกหนี้ที่มีปัญหาโดยไม่ทอดทิ้งเขาและให้มีโอกาสฟื้นกลับมาได้  ขณะที่ระบบธนาคารพาณิชย์มีความแข็งแกร่งทั้งเงินกองทุนและสามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล

และ4.สถานการณ์ของโลกภาพรวมซึ่งยังมี 2ปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและตลาดการเงินไทย คือ ธนาคารกลางหลักของโลกที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ซึ่งมองว่าประเด็นดังกล่าวแม้จะมีผลต่อการฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งไทย แต่สำหรับผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นมีน้อย เนื่องจากปัจจุบันสถานะด้านต่างประเทศของไทยมีความเข็มแข็งและไม่มีปัญหาเชิงโครงสร้างเช่นปี 2540

ขณะเดียวกันความเปราะบางตลาดการเงินของไทยมีน้อย เพราะการถือครองพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติน้อยกว่าประเทศไทย แม้จะมีเงินไหลออกเมื่อเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือบอนด์ยีลด์ไม่น่าจะดีดตัวแรง

 

 โดยเฉพาะตลาดเงินของไทยพึ่งพาเงินฝากในประเทศกว่า 90%โดยพึ่งพาตลาดบอนด์น้อยมากเห็นได้จากบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความเข้มแข็งและมีการระดมทุนผ่านตลาดบอนด์แค่ 10% ฉะนั้นการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศยังจำกัด

สำหรับโจทย์ท้าทายระบบการเงินไทยอีก 2เรื่องคือ Digital ภาวะโลกร้อนหรือGreen Economy ธปท.เตรียมจะออก เกณฑ์เกี่ยวกับภูมิทัศน์ระบบการเงินไทย Financial  Landscape Consultation  Paper ที่จะออกในวันที่ 2 ก.พ.2565เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ เป็นเวลา 1เดือน  เพื่อวางรากฐานภูมิทัศน์ระบบการเงินไทยสู่เสถียรภาพความยั่งยืนรับเทรนด์Digital และGreen Economy

“ เราต้องการเห็นการปรับตัวของสถาบันการเงินโดยมีความยืดหยุ่น เพราะต้องบาลานระหว่างการให้เขามีนวัตกรรมกับการบริหารความเสี่ยง ซึ่งธปท.ในฐานะผู้กำกับพยายามยืดหยุ่นและควบคุมไม่ให้หลุด”

ตัวอย่างการปรับตัวใน Financial  Landscape Consultation  Paper ที่จะออกในวันที่ 2 ก.พ.ในมุมเรื่องฟินเทคธปท.จะทบทวนเกี่ยวกับสัดส่วนที่จะลงทุนเดิมอยู่ที่ 3%เพราะเห็นบางฟินเทคไม่มีความเสี่ยง แต่บางส่วนก็มีความเสี่ยง ยืดหยุ่นมากขึ้น นวตกรรมมากขึ้น

แต่กรณีDigital Asset ยังคงควบคุมมากขึ้น เพราะจุดยืนของธปท.ไม่สนับสนุนให้ใช้ Digital Asset สำหรับการชำระเงิน(Digital Payment)  เนื่องจากไม่เหมาะสม เพราะมีความผันผวนสูงสร้างความเสี่ยง และประเด็นเสถียรภาพ เช่น โอกาสจะถูกแฮกหรือทำให้ระบบการชำระเงินขาดการบูรณาการ หรือความเป็นเอกภาพ ดังนั้นเรื่องการชำระเงินควรจะอยู่ในรูปของสกุลเงินบาท  แต่ในส่วนเรื่องการลงทุนนั้นจะมีหน่วยงานกำกับ

ส่วนในฝั่งธนาคารพาณิชย์ก็มองว่าการถือครองDigital Assetนั้นมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ธปท.ไม่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ถือครอง ส่วนบริษัทลูกต้องขออนุญาตเป็นรายกรณี ยกเว้นบริษัทลูกมีหน่วยงานกำกับอื่น ๆ

 ขณะเดียวกันประเด็นขอบข่ายและการออกใบอนุญาต Virtual Bank นั้น ธปท.ยังไม่ระบุในรายละเอียด แต่ Virtual Bankจะอยู่ใน Financial  Landscape Consultation  Paper วันที่ 2 ก.พ.เช่นกัน

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวย้ำถึงแนวทางการวางรากฐานเชิงโครงสร้างเพื่อรองรับโจทย์ท้าทายระบบสถาบันการเงินทั้ง 2เรื่อง (Digital และ กระแสGreen Economy ) สิ่งที่ธปท.ต้องทำต่อไปเพื่อวางรากฐานเชิงโครงสร้าง เกี่ยวกับระบบ Digital นั้น

 

ธปท. ได้ผลักดันเรื่องนี้ 3แนวทางหรือ 3 Open ได้แก่ 1.Open Competition เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนผู้เล่นหน้าใหม่และหน้าเดิม เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และปีนี้จะออกเกณฑ์การกำกับให้เท่าเทียม

2. Open Data การผลักดันระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของประเทศ ให้ถูกใช้เป็นประโยชน์ได้ในวงกว้าง

 3.Open Infrastructure โดยเปิดกว้างให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เชื่อมต่อผู้ให้บริการที่หลากหลายได้เห็นเป็นรูปธรรม

เช่น สนุนสนุนธุรกิจSMEอยู่ในระบบ Digital Supply Chain การเชื่อมต่อระบบพร้อมเพย์ ระบบFast Paymentและเชื่อมการชำระเงินข้ามประเทศ

หรือการพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่อยู่ระหว่างทกสอบเทคโนโลยีและจะทำPilotในปี2565 ทั้งนี้องค์ประกอบของInfrastructureมีความจำเป็นในอนาคตซึ่งเป็นการวางรากฐานหรือสร้างถนนให้ภาคเอกชนมาต่อยอดนวัตกรรม

สำหรับเรื่องการสร้างเสถียรภาพที่ยั่งยืน(Sustainability) นอกจากสร้างความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวมแล้วยัง เน้นลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์โดยลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้าที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจและระบบการเงินของไทยก้าวทันภายใต้บริบทโลกใหม่