เปิดร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรล่าสุด เปิดทางตั้งกาสิโนในไทย

15 ม.ค. 2568 | 07:08 น.

เปิดรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร กำหนดทุนจดทะเบียน 1 หมื่นล้าน อนุญาตตั้งกาสิโนในไทย พร้อมกำหนดมาตรการควบคุมเข้มงวด อายุใบอนุญาต 30 ปี

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... ที่กำหนดกรอบการจัดตั้ง "เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" (Entertainment Complex) ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่รวมสถานบันเทิงหลายประเภทในพื้นที่เดียวกัน เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สนามกีฬา สวนสนุก ร้านอาหาร ไนต์คลับ พื้นที่ส่งเสริมสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นต้น

โดยต้องมีอย่างน้อย 4 ประเภทและอาจมีกิจการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด ร่วมกับกาสิโน

โครงสร้างการกำกับดูแล

ร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... กำหนดให้มีการกำกับดูแล 3 ระดับ ประกอบด้วย

1. คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร

มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมกรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

2. คณะกรรมการบริหาร

มีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธาน พร้อมกรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน

ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คนจากด้านเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ กฎหมายหรือสังคม

3. สำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร

เป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ โดยคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งผู้อำนวยการ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ทั้งนี้ สำนักงานฯ ต้องทำหน้าที่ป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบด้วย

หลักเกณฑ์การดำเนินการ

  1. ผู้รับใบอนุญาตต้องเป็นบริษัทหรือบริษัทมหาชน ซึ่งจดทะเบียนในไทยและมีทุนชำระแล้วมากกว่า 10,000 ล้านบาท
  2. ระยะเวลา 30 ปี และต่ออายุได้คราวละไม่เกิน 10 ปี
  3. สำหรับการเข้าใช้บริการกาสิโนมีบัญชีรายชื่อต้องห้าม โดยห้ามบุคคลต่างๆ เข้า เช่น บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้ซึ่งสำนักงานฯ สั่งห้ามเข้า เป็นต้น
  4. สถานที่ตั้งและจำนวนใบอนุญาต เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
  5. สัดส่วนพื้นที่ของกาสิโนในเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และสัดส่วนของพนักงานคนไทยและต่างด้าวถูกกำหนดโดยคณะกรรมการนโยบาย
  6. ห้ามมิให้มีการพนันออนไลน์ (ห้ามเชื่อมต่อระบบเพื่อให้บุคคลที่อยู่ภายนอกกาสิโนเข้าเล่นหรือเข้าพนันได้)
  7. ห้ามเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเกี่ยวกับกาสิโน เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารประกาศกำหนด

 

เปิดร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรล่าสุด เปิดทางตั้งกาสิโนในไทย

 

ประเภทธุรกิจที่อนุญาต

ตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติ กำหนดประเภทธุรกิจสถานบันเทิง 10 ประเภท ได้แก่

  1. 1ห้างสรรพสินค้า
  2. โรงแรม
  3. ร้านอาหาร ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ หรือบาร์
  4. สนามกีฬา
  5. ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ
  6. สถานที่เล่นเกม
  7. สระว่ายน้ำและสวนน้ำ
  8. สวนสนุก
  9. พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)
  10. กิจการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด

เพดานอัตราค่าธรรมเนียม

  1. การขอรับใบอนุญาต ครั้งละ 100,000 บาท
  2. ใบอนุญาตครั้งแรก ฉบับละ 5,000 ล้านบาท และรายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท
  3. ใบอนุญาต (ต่ออายุ) ฉบับละ 5,000 ล้านบาท และรายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท
  4. ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 100,000 บาท
  5. ค่าเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทย ครั้งละ 5,000 บาท

ทั้งนี้สำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจรมีรายได้จากเงินอุดหนุน ค่าธรรมเนียมต่างๆ และค่าเข้าของคนไทย โดยเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

 

เปิดร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรล่าสุด เปิดทางตั้งกาสิโนในไทย

 

เลขานายกฯ ชี้แจงความเข้าใจ

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สังคมมักเข้าใจผิดว่าโครงการนี้เน้นเรื่องกาสิโนเป็นหลัก แต่ความจริงแล้ว กาสิโนจะมีสัดส่วนเพียง 5% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น เราต้องการสร้างแหล่งท่องเที่ยวครบวงจรที่เหมาะสำหรับครอบครัว ประกอบด้วยโรงแรม ศูนย์ประชุม สถานบันเทิง และพื้นที่จัดกิจกรรม โดยมีคาสิโนเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ไม่เกิน 5% ของพื้นที่ทั้งหมด เช่นเดียวกับโมเดลที่ประสบความสำเร็จในสิงคโปร์ มาเก๊า และลาสเวกัส 

รัฐบาลประเมินว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่งในช่วงก่อสร้าง พร้อมทั้งมีการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรไทย นอกจากนี้ยังกำหนดเงื่อนไขด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ให้ผู้ประกอบการต้องมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนโดยรอบ

“ไทยต้องเร่งดำเนินการเพราะต้องแข่งขันกับโอซาก้าของญี่ปุ่นที่กำลังจะเปิด ผู้ประกอบการหลายรายมองว่าไทยมีศักยภาพสูงมาก เพราะมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐาน บางรายถึงกับบอกว่าไทยอาจสร้างอารีน่าขนาด 16,000 ที่นั่งได้ ซึ่งใหญ่กว่าที่อื่นที่ทำได้แค่ 12,000 ที่นั่ง” นพ.พรหมินทร์กล่าว

พร้อมกับระบุถึงกรณีที่มีข่าวว่าสิงคโปร์ล็อบบี้ไม่ให้กลุ่ม Las Vegas Sands เข้ามาลงทุนในไทยว่า หากกลุ่ม Las Vegas Sands ไม่มาลงทุนก็ยังมีนักลงทุนรายอื่นที่สนใจลงทุนอีก 5 ราย เราก็เลือกรายอื่น

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะต้องเป็นการลงทุนใหม่ทั้งหมด ไม่สามารถต่อยอดจากโครงการเดิมได้ เพื่อให้เกิดการลงทุนที่แท้จริง โดยจะเน้นการพัฒนาบนที่ดินของรัฐ และต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม รวมถึงอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

เปิดร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรล่าสุด เปิดทางตั้งกาสิโนในไทย