ส่งผลกระทบต่อบริษัทข้ามชาติทั้งสัญชาติไทยและบรรษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก ความตื่นตระหนกดังกล่าวส่งผลต่อราคาหุ้นบริษัทเหล่านี้ดิ่งร่วงลงอย่างมาก และสำหรับประเทศไทย หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ
และด้านภาษีต่างพยายามออกมาตราการเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว เพราะจะกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนที่จะลงทุนเพิ่ม หรือมาลงทุนในประเทศไทย
ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้บริษัทเหล่านี้ต่างกำลังรอคำตอบสำคัญสองคำถาม คือ
ทั้งสองคำถามนี้ คือ คำถามสำคัญที่นักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทยตามเงื่อนไขเดิมที่ยังมีอายุการส่งเสริมอยู่ และรายเดิมที่คิดจะขยายการลงทุนต่อ และที่สำคัญคือ รายใหม่ที่คิดกำลังจะมาลงทุนกำลังรอคำชี้แจงมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาลไทย เพราะตลอดเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาทาง BOI และกระทรวงการคลังหารือกันหลายรอบ
แต่ก็ยังไม่ตกผลึกและไม่มีคำตอบที่ชัดเจน จนเวลาหมดที่ต้องออก พรก. ภาษีส่วนเพิ่มออกมาก่อน แต่รายละเอียดของ พรก. กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และมาตรการเยียวยา โดยเฉพาะรายที่ยังมีอายุการส่งเสริมการลงทุนอยู่จะทำอย่างไรก็ยังเป็นไอเดียแนวคิดที่ยังไม่ตกผลึกในรายละเอียดของมาตรการ
สำหรับผมแล้ว คิดว่าประเทศไทยน่าจะถือเป็นช่วงโอกาสที่ดีสำหรับการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมเราด้วยไปพร้อมกัน โดยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมนั้น เราสามารถทำการเลือกส่งเสริมการลงทุนทั้งโครงการใหม่ หรือการขยายการผลิตเพิ่มเติม รวมทั้งการพัฒนา
โดยกำหนดสนับสนุนเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาในอนาคต หรือเป็นอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่ที่เราต้องการ อาทิ เช่น AI หรืออิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่หรืออาหารที่มีมูลค่าสูง ฯลฯ
สำหรับมาตรการที่ใช้ในการส่งเสริมการลงทุนภายใต้เงื่อนไขของ GMT ที่ทุกประเทศไม่สามารถลดอัตราภาษีรายได้ให้บรรษัทข้ามชาติต่ำกว่า 15%
แต่การที่จะสร้างแรงจูงใจสามารถทำให้ให้ฐานรายได้เพื่อการเสียภาษีนั้นลดลง ด้วยการกำหนดให้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อการพัฒนานำมาเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้มากขึ้น โดยทั้งรายจ่ายในกิจกรรมที่สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายมากกว่ารายจ่ายที่แท้จริงในการคำนวณภาษีนั้นควรกำหนดเป็นกิจกรรมที่รัฐบาลต้องการเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ
การสร้างห้องทดสอบ การพัฒนาและวิจัยใหม่ ๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ รวมถึงกิจกรรมเพื่อการเพิ่มขีดความสามารถบุคลากรในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือด้านที่กำหนด หรือการลงทุนในกิจกรรมต่าง ๆ ที่รัฐกำหนดให้เป็นกิจกรรมที่ประเทศต้องการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ สำหรับการลงทุนรายใหม่นั้น นอกจากการคัดเลือกเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว รัฐอาจต้องหามาตรการที่ช่วยลดต้นทุนทางด้านการลงทุนเริ่มต้น (Establishment Cost) ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลา
ด้านค่าใช้จ่ายอาจเป็นการสนับสนุนด้านต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนแรกเริ่ม หรือแบ่งภาระต้นทุนบางส่วนให้กับผู้ลงทุนในโครงการที่รัฐเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถ เช่น การดูแลเรื่องการคัดเลือกและเตรียมความพร้อมด้านความสามารถของบุคลาการเพื่อรองรับการลงทุนตามความต้องการของผู้ลงทุน
รวมถึงความสะดวก รวดเร็ว ในการอนุญาตเพื่อการลงทุน เพราะปัจจุบันนี้ เงื่อนไข กติการต่าง ๆ สำหรับการลงทุนใหม่นั้น ใช้เวลานาน กฎระเบียบยุ่งยากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ผมว่าอาจเป็นเวลาเหมาะที่ BOI จะใช้สถานการณ์นี้สร้าง One Stop Service จริง ๆ เหมือนที่อยากได้และที่หลายประเทศเขาทำกันอยู่ และต้องไม่ใช่เหมือนที่ผ่านมา ที่แค่เอาเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ มานั่งเป็นคนรวบรวมเอกสารส่งหน่วยงานตนเองเท่านั้น
ผมให้กำลังใจ BOI ให้ทำจริง ๆ ในคราวนี้ ผมว่าต้องใช้แรงบารมีท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน BOI ละครับ ถึงจะแคะอำนาจออกจากมือของเจ้าของอำนาจได้
ผมถือว่าการที่เราต้องทำตามเงื่อนไขของ GMT คราวนี้ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เคยมีมา ในความพยายามที่จะช่วยให้เราปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการเพิ่มขีดความสามารถ ไม่มีเวลาไหนที่เหมาะเท่ากับเวลานี้อีกแล้ว เพราะที่ผ่านมาเราพยายามกำหนดสารพัดมาตรการเพื่อการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่ยุคใหม่ รวมทั้งการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ก็เป็นไปอย่างลำบากและเชื่องช้า เนื่องจากไม่มีแรงกดดันและผลกระทบที่แรงและเร็วกับภาคอุตสาหกรรมเหมือนคราวนี้
ผมก็ได้แต่หวังว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ให้ได้มากและอย่างชาญฉลาด ผมก็ได้แต่ให้กำลังใจในการออกแบบมาตรการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วครับ