รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินหน้าผลักดันนโยบายจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เป็นหนึ่งในนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 13 มกราคม 2568 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ....” หรือ “ร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ตามที่กระทรวการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามลำดับ
จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 รัฐบาลมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ผ่านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) โดยสถานบันเทิงครบวงจรจะเป็นเขตพัฒนาพิเศษเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวของครอบครัวระดับโลก ประกอบด้วยโรงแรมระดับ 6 ดาว ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดประชุม สวนสนุก สวนน้ำ สนามกีฬา ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ ร้านอาหาร ไนต์คลับ รวมถึงกาสิโนที่ถูกกฎหมาย
รัฐบาลประเมินว่าเม็ดเงินลงทุนเบื้องต้นจากการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.19 - 2.38 แสนล้านบาท
ด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โครงการนี้จะสร้างการจ้างงานโดยตรง 9,000 - 15,300 ตำแหน่ง คิดเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราการจ้างงานคนไทย 0.03 - 0.05%
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดการจ้างงานโดยอ้อมในธุรกิจต่อเนื่อง อาทิ งานด้านการออกแบบ การขนส่ง และธุรกิจโดยรอบ โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ให้รัฐประมาณ 12,037 - 39,427 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นรายได้ภาษีจากกิจการโรงแรม 5 ดาว และสวนสนุก 8,773 - 35,093 ล้านบาทต่อปี รายได้จากกิจการกาสิโนขั้นต่ำ 3,264 ล้านบาทต่อปี และค่าธรรมเนียมการเข้ากาสิโนอีกขั้นต่ำ 3,700 ล้านบาทต่อปี
ในแง่การท่องเที่ยว คาดว่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 - 10% ต่อปี และกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วง low season เพิ่มขึ้น 13% พร้อมเพิ่มการใช้จ่ายต่อคนต่อทริปจาก 44,000 บาท เป็น 66,043 บาท
จากกรณีศึกษาความสำเร็จในประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าสิงคโปร์สามารถสร้างรายได้ถึง 4.3 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่ม GDP 1 - 2% ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ 3 แสนล้านบาท และสร้างการจ้างงาน 20,000 ตำแหน่ง
ขณะที่เวียดนามสามารถสร้างรายได้ 1.8 แสนล้านบาทต่อปี อินโดนีเซีย 1.4 แสนล้านบาทต่อปี เกาหลีใต้ 3.2 แสนล้านบาทต่อปี มาเก๊า 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี และฟิลิปปินส์ 2.2 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ญี่ปุ่นก็กำลังจะเปิดในปี 2030 เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศ UAE ก็เตรียมโครงการ
รัฐบาลระบุว่าสถานบันเทิงครบวงจรจะมีมาตรการกำกับดูแลที่รัดกุมและโปร่งใส โดยจะคัดเลือกบริษัทที่มีประสบการณ์และมีมาตรฐานการจัดการที่ดีมาบริหารโครงการ พร้อมจำกัดคุณสมบัติของผู้เข้าใช้บริการเพื่อป้องกันผลกระทบต่อเยาวชนและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงนำรายได้บางส่วนมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่และฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า สาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เช่น กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร คณะกรรมการบริหารจัดตั้งสำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร กำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ประกอบสถานบันเทิงครบวงจร
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรที่ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและส่งเสริมการลงทุนในประเทศ อันจะก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมในภาพรวมและเป็นการสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
รัฐบาลหวังว่าโครงการสถานบันเทิงครบวงจรถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่ระดับโลก สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีขนาด 54 ล้านล้านบาทในปี 2022 และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 7% โดย 4 ใน 7 ประเทศที่มีรายได้จากสถานบันเทิงครบวงจรสูงสุดอยู่ในภูมิภาคนี้