กฤษฎีกา ค้านรัฐบาลดันร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร ไม่ตรงปก

13 ม.ค. 2568 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2568 | 09:35 น.

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ค้านรัฐบาลดันร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือ เอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ หลังคลังเสนอครม. รับไม่ตรงปกจากแถลงรัฐสภา แฝงการพนัน

กรณีกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 มกราคม 2568 นี้ เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือ เอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ หลังจากผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นแล้ว 

ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... ซึ่งไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้รวม 6 ข้อ ดังนี้ 

1. ตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภานั้น นโยบายเร่งดวนที่ 7 ระบุว่า “รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว" โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destination) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย

รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่กระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

หากนโยบายดังกล่าวมุ่งหมายที่จะพัฒนาพื้นที่เป้าหมายให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destination) เป็นหลักซึ่งเป็นไปในทำนอง เดียวกับ Integrated Resort District ของประเทศญี่ปุ่น หรือรีสอร์ทขนาดใหญ่บางแห่งในเขตบริหารพิเศษมาเก๊า แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน Sunway Resort ในมาเลเซีย Marina Bay Sandsในสิงคโปร์ เป็นต้น 

โดยประกอบด้วยโรงแรม ศูนย์การค้า ศูนย์การแสดงเพื่อความบันเทิง ศูนย์ประชุม โดยสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เป็นเพียง "ส่วนประกอบหนึ่ง" ของแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นดังกล่าวเท่านั้น และอาจมีสถานที่ใดที่จัดให้มีการเล่นกาสิโนด้วยก็ได้
สำนักงานฯ จึงเห็นว่าการที่ร่างกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายเฉพาะสถานบันเทิงครบวงจรนั้นยังไม่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล

2. หากร่างกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายที่จะจำกัดเฉพาะ "สถานบันเทิงครบวงจร" ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า สถานบันเทิงครบวงจรคือสิ่งใด เป็นโรงแรม เป็นสถานบริการเป็นร้านอาหาร ฯลฯ เพราะแต่ละกิจกรรมดังกล่าวมีกฎหมายเฉพาะควบคุมอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายในเรื่องนี้อีกเพราะจะเป็นความซ้ำซ้อน 

หากควรใช้มาตรการทางบริหารในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายเฉพาะแต่ละเรื่องเพื่อให้การบังคับการตามกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งลดระยะเวลาและขั้นตอนในการให้บริการแก่ประชาชน

3.รายงานผลการศึกษา เรื่อง ศึกษาการเปิดสถานบันเทิงหรือสันทนาการครบวงจร ของสภาผู้แทนราษฎรนั้นมุ่งแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย แต่สถานบันเทิงครบวงจรในความเข้าใจของประชาชนทั่วไปนั้นหมายถึงสถานที่ที่ให้บริการกิจกรรมด้านความบันเทิงหรือสันทนาการแก่ผู้ใช้บริการได้อย่างหลากหลาย มิใช่สถานที่ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นสถานที่เล่นการพนัน และสถานบันเทิงนั้นก็มีกฎหมายว่าด้วยสถานบริการควบคุมอยู่แล้ว 

ปัญหาการลักลอบเล่นพนันในสถานที่ดังกล่าวจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายของผู้บังคับใช้กฎหมายนั้น ทั้งยังผิดกฎหมายว่าด้วยการพนัน กรณีจึงไม่ชัดเจนว่า ร่างกฎหมายที่เสนอ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับผลการศึกษาดังกล่าว จะแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมายได้อย่างไร

4. หากรัฐบาลประสงค์จะแก้ไขปัญหาเรื่องการพนันผิดกฎหมายหรือมีนโยบายที่จะจัดให้มีการเล่นการพนันที่ชอบด้วยกฎหมายในสถานบริการหรือสถานที่อื่นใด ก็สามารถที่จะดำเนินการได้ตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน หรือแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพนันที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 (90ปีแล้ว) เพื่อให้ทันกับกาลสมัย ซึ่งจะแก้ไขปัญหานี้ให้ตรงจุดมากกว่าไปควบคุม การอนุญาตให้จัดตั้งและการบริหารจัดการสถานบันเทิงครบวงจร

5. โดยที่ยังไม่ชัดเจนว่าร่างกฎหมายนี้มุ่งหมายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ใด สำนักงานฯ จึงให้ความเห็นข้างต้นตามหลักการทำ Requlatory Impact Assessment (RIA) หรือ การวิเคราะห์ผลกระทบในการออกกฎหมาย เท่านั้น และมีข้อเสนอแนะว่าหากจะเสนอร่างกฎหมายนี้ต่อคณะรัฐมนตรี กระทรวงการคลังต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ใด 

ทั้งนี้เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบได้อย่างชัดเจนว่าเป็น ร่างกฎหมายที่ทำขึ้นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการจะผลักดันนโยบายแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นหลัก หรือจะเป็นไปตามข้อเสนอแนะของสภาผู้แทนราษฎรที่มุ่งแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย เพราะมีความแตกต่างกันมากในการออกแบบกลไกตามกฎหมายและโครงสร้าง 

รวมทั้งสมควรรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย และปรับปรุงร่างให้ตรงตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

6.มีข้อสังเกตว่าปัจจุบันมีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ในวงกว้างอย่างสับสนว่าจะเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ใดตามข้อ 5 กรณีจึงสมควรที่จะสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนเสียก่อนที่จะเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาด้วย