สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รายงานว่า จากที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส ที่ 4 ของปี 2567 ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยขยายตัว 3.2 % เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง จากไตรมาส 1 ที่ 1.7% ไตรมาส 2 ที่ 2.3% และไตรมาส 3 ที่ 3% รวมทั้งปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.5% โดยมีปัจจัยหลักจากการบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัว 4.4% และการอุปโภคภาครัฐบาลที่ขยายตัว 2.5%
ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว 4.8% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง 1.6% มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 5.8% ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 9.5% ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการใช้พลังงานของประเทศไทย ปี 2567 ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 123,546 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ(KTOE) เพิ่มขึ้น 1.1% จากปี 2566 ที่อยู่ในระดับ 122,166 KTOE
จากการใช้พลังงานดังกล่าว ส่งผลให้ในปี 2567 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงานในภาพรวมอยูที่ 245.7 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนปล่อยอยู่ที่ 243.3 ล้านตัน โดยพบว่าภาคการผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น 5.1% ส่วนภาคการขนส่ง เพิ่มขึ้น 0.5% และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ (ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ) มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น 0.5 % ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลง 4.5%
ทั้งนี้ หากแยกรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2567 พบว่า มีการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้นํ้ามันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ 43% มีการปล่อยเพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหรืออยู่ที่ 105.3 ล้านตัน รองลงมาก๊าซธรรมชาติปล่อย CO2 มีสัดส่วนที่ 33% ปล่อยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.7% หรืออยู่ที่ 80.2 ล้านตัน และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดการปล่อย CO2 ที่ 24% มีการปล่อยเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรืออยู่ที่ 60.2 ล้านตัน รวมปริมาณการปล่อย CO2 ที่ 245.7 ล้านตัน
สนพ.รายงานอีกว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจ ปี 2567 ในภาพรวมมีการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้น 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนโดยภาคการผลิตไฟฟ้ามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 สูงที่สุดที่ 38% มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรืออยู่ที่ 93.9 ล้านตัน สอดคล้องกับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 5.5% เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่สูงขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัวและสภาพอากาศที่ร้อนจัด
โดยพบว่าการปล่อยก๊าซ CO2 มาจากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 66% หรือราว 61.5 ล้านตัน เพื่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อย CO2 อยู่ที่ 34% หรือราว 31.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนปล่อย CO2 จากการใช้นํ้ามันผลิตไฟฟ้าลดลง 0.4 % หรือปล่อยอยู่ที่ราว 0.5 แสนตัน
ส่วนภาคการขนส่ง มีการปล่อยก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.5 % อยู่ที่ 82.2 ล้านตัน โดยเป็นการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น 1.1% หรืออยู่ที่ 80.1 ล้านตัน ในขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการขนส่ง (NGV) ลดลง 16.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรืออยู่ที่ 2.1 ล้านตัน ซึ่งสอดคล้องกับการใช้นํ้ามันสำเร็จรูปในภาคการขนส่งที่ชะลอตัวลง และการใช้ NGV ที่ลดลง
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของโครงข่ายรถไฟฟ้าและการเพิ่มขึ้น ของยานยนต์ไฟฟ้าประเภท BEV จากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2567 มี BEV ที่จดทะเบียนสะสม อยู่ที่ 227,490 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 72.5 % โดยส่วนใหญ่ 70% เป็นรถยนต์นั่งและรถกระบะ ส่วนรถจักรยานยนต์ อยู่ที่สัดส่วน 28%
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ในปี 2567 มีการปล่อยก๊าซ CO2 ลดลงจากปีก่อน 4.5 % หรืออยู่ในระดับ 56.3 ล้านตัน เป็นการลดลงในเกือบทุกชนิดเชื้อเพลิง ยกเว้นนํ้ามันสำเร็จรูป สอดคล้องกับข้อมูลอัตราการใช้กำลังผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 58.8% ตํ่ากว่าปีก่อนอยู่ที่ 60.4 % โดยการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ (สัดส่วนการปล่อย CO2 ที่ 50 % ) ลดลง 0.8% ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ในภาคอุตสาหกรรม ที่ลดลง 0.7 % ส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติลดลง 13.1% ขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้น้้ามันส้าเร็จรูปเพิ่มขึ้น 0.7%
สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ การปล่อยก๊าซ CO2 มาจากการใช้นํ้ามันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว ในปริมาณ 13.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.5%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง