หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ปรากฏว่า กทม.ได้รายงาน สถานการณ์จาก อาคาร สตง.เขตจตุจักร วันที่ 5 เมษายน 2568 เวลา 08.00 น. ดังนี้
• ยอดผู้ประสบภัย 103 ราย
• เสียชีวิต 15 ราย เพศชาย 8 ราย เพศหญิง 7 ราย
• รอดชีวิต 9 ราย
• ติดค้าง 79
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมติดตามและ แก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ทั้งเครือข่าย เอไอเอส และ ทรู รวมถึง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT หาทางปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจากการรายงานพบว่า ระบบ Cell Broadcast หรือวิธีการส่งข้อความสั้น ๆ พร้อมกันไปยังผู้ใช้โทรศัพท์ จะเสร็จสิ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 ในระหว่างนี้หากมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีก จึงได้มอบหมายให้เรียงลำดับงาน แบ่งเป็นช่วงเวลาเพื่อที่จะได้ดำเนินงานได้ชัดเจน ดังนี้
Cell Broadcast Service
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาราชการการแทนเลขาธิการ และ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กสทช. ว่า หลังจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งหนังสือถึง Apple เพื่อให้ปลดล็อกระบบเพื่อสนับสนุนการใช้งาน Cell Broadcast ล่าสุด Apple ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจะดำเนินการเสร็จภายใน 5 วัน และ สามารถดำเนินการส่ง SMS ภายใน 2 สัปดาห์ โดย Cell Broadcast ส่งข้อความได้ในเทคโนโลยีระบบ 4 จี และ 5 จี ส่งข้อความ 30 ล้านครั้งต่อชัวโมง ส่วน SMS ระบบ 2 จี และ 3 จี ปัจจุบัน AIS มีผู้ใช้บริการ 1.2 ล้านเลขหมาย และ TRUE มีอยู่ 1 ล้านเลขหมายส่งได้คร้้งละ 3 ล้านครั้งต่อชั่วโมง
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่แจ้งเตือนภัย กับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่าย ในการเซ็ตกระบวนการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ โดยในระหว่างที่รอการพัฒนาระบบ Cell Broadcast ให้ครบสมบูรณ์และพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ปภ. และผู้ให้บริการเครือข่ายได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกันที่ชัดเจนในกระบวนการแจ้งเตือนภัยผ่าน SMS และ Virtual Cell Broadcast ทั้งกรณีแผ่นดินไหวและภัยพิบัติอื่น ๆ