thansettakij
สภาอุตฯหนุนจัดหนัก ซื้ออาวุธ-สินค้าเกษตรสหรัฐเพิ่ม หวังกดภาษีไทยตํ่า

สภาอุตฯหนุนจัดหนัก ซื้ออาวุธ-สินค้าเกษตรสหรัฐเพิ่ม หวังกดภาษีไทยตํ่า

08 เม.ย. 2568 | 23:30 น.

แผ่นดินไหวการค้าโลก” “แผ่นดินไหวเศรษฐกิจไทย” มีหลายวลีที่บ่งชี้คำจำกัดความ และสื่อความหมาย หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ประกาศปรับขึ้นภาษีศุลกากรพื้นฐาน (Baseline Tariff)

รวมถึงภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศครอบคลุมกว่า 180 ประเทศ จุดชนวนสงครามการค้าโลก หลังหลายประเทศประกาศจะตอบโต้ รวมถึงเจรจาต่อรองกับสหรัฐ

สำหรับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ในอัตราสูงถึง 36% ครอบคลุมสินค้าทุกรายการที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ก่อนที่สหรัฐจะประกาศมาตรการด้านภาษีในครั้งนี้ ภาคเอกชนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือในวอร์รูม โดยได้คำนวณจากสมมุติฐาน ตัวเลขอัตราภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยเก็บจากสหรัฐเฉลี่ยที่ 27% และสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าอื่น ๆ เฉลี่ย 6-7% รวมค่าเฉลี่ยภาษีทั้งหมดอยู่ที่ 11% หากสหรัฐเก็บภาษีพื้นฐานที่ 10% ก็จะเป็นไปตามหลักการ

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ดีทางสหรัฐได้ประกาศตัวเลขออกมา โดยได้เก็บภาษีไทยในอัตราตอบโต้ (Reciprocal Tariff) และนำไปรวมกับมาตรการที่สหรัฐมองว่าเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) ที่ไทยใช้กีดกันการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในหลายเรื่อง และในหลายสินค้า ตัวเลขที่ออกมาสหรัฐจะเก็บภาษีตอบโต้ไทยที่ 72% แต่คิดกับไทยเพียงครึ่งเดียวที่ 36% เพิ่มจากที่คาดการณ์ไว้ที่ 11% หรือเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าทุกฝ่ายจึงช็อกมาก

ทั้งนี้ได้คาดการณ์ผลจากภาษี 36% ที่สหรัฐจะเก็บจากสินค้าไทย จะกระทบต่อตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงในปีนี้ประมาณ 7-8 แสนล้านบาท (จากที่คาดการณ์ไว้เดิมภาษีที่ 11% จะกระทบส่งออกประมาณ 2-3 แสนล้านบาท) ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นเพียงการคาดการณ์ในเบื้องต้น แต่ผลกระทบที่แท้จริงคงต้องมาลงลึกในรายละเอียดเพิ่มเติม อาทิ ล่าสุดเวียดนามจะถูกสหรัฐขึ้นภาษีสูงกว่าไทยที่ 46% ทำให้ภาษีสินค้าไทยเข้าสหรัฐมีช่วงห่างซึ่งเป็นแต้มต่อสินค้าจากเวียดนามอยู่ 9% อาจทำให้สินค้าไทยได้เปรียบสินค้าเวียดนามและเป็นตัวเลือกมากขึ้นก็ได้

อย่างไรก็ตามจากผลกระทบที่สหรัฐจะเก็บภาษีสินค้าไทยที่ 36% และภาคการส่งออกมีส่วนสำคัญต่อจีดีพีไทยถึง 58-60% ดังนั้นจากที่ภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ได้คาดการณ์ขยายตัวของการส่งออกไทยปี 2568 ไว้เดิมที่ 1.5-2.5% และการขยายตัวของจีดีพีไทยไว้ที่ 2.4-2.9% พอมีสถานการณ์เช่นนี้ ตัวเลขการส่งออก และตัวเลขจีดีพีจะขยายตัวลดลงตํ่ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยจีดีพีไทยปีนี้อาจโตตํ่ากว่า 2%

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า สิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการคือการเจรจากับสหรัฐ เพื่อให้เกิดความสมดุลมากขึ้น จากในปีที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐมากอยู่ในลำดับที่ 11 ดังนั้นเพื่อลดช่องว่างการขาดดุลการค้าสหรัฐที่มีต่อไทยให้ลดลง และลดแรงกดดันตัวเลขภาษีที่สูงให้ปรับลดลง ไทยสามารถทำได้หลายทาง ที่สำคัญคือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ และลดอุปสรรคต่าง ๆ

ทั้งนี้นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว ยังเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและลดต้นทุนของผู้ประกอบการไทยด้วยเช่น การนำเข้าข้าวโพดเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์จากสหรัฐเพิ่ม การนำเข้าเนื้อหมู เนื้อวัว และการลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐที่ไทยผลิตไม่พอใช้

รวมถึงการพิจารณาจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่ไทยเคยซื้อจากประเทศอื่น เปลี่ยนมาซื้อจากสหรัฐแทน เช่น เครื่องบิน รถถัง เรือดำนํ้า โดรน หรืออุปกรณ์ไฮเทคต่าง ๆ ที่ไทยพอจะซื้อจากสหรัฐได้ โดยสินค้าเหล่านี้มีราคาค่อนข้างสูง การเลือกจัดซื้อบางรายการจะช่วยให้การขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อไทยลดลง และสร้างความพอใจให้สหรัฐได้