วันนี้ (13 มกราคม 2568) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือ เอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ พร้อมรับความเห็นของทุกหน่วยงานไปพิจารณา ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะตรวจร่างและปรับร่างกฎหมายก่อนเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ภายใน 1-2 เดือนนี้
สำหรับร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ฉบับนี้ ถือว่าเป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ ข้อที่ 7 คือ เพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ โดยเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destination) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย
โดยการผลักดันเรื่องนี้ รัฐบาลยอมรับว่าจะไม่ใช่การผลักดันการตั้งกาสิโนถูกกฎหมายขึ้นเพียงอย่างเดียว เพราะจะเป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า โมเดลการผลักดันเอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ครั้งนี้ ถือเป็นโมเดลทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จ ช่วยปรับโฉมการท่องเที่ยวได้เป็นรูปธรรม ช่วยสร้างรายได้ประชาชน และสร้างรายได้เข้ารัฐ พร้อมทั้งมีรูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม
ทั้งนี้ในการประชุมครม.ยังมีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานต่าง ๆ ในที่ประชุมด้วย เช่น ต้องการให้ผลักดันกีฬาพื้นถิ่นเข้าไปใน เอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ด้วย ทั้ง มวยไทย หรือไก่ชน ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบข้อคิดเห็นทั้งหมดก่อนนำไปปรับในร่างกฎหมายต่อไป
รมช.คลัง ยอมรับว่า ในส่วนของการลงทุนจริงแต่ละจุดที่เป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ จะมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1.2 - 2.4 แสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 5-10% โดยเฉพาะการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวได้อย่างน้อย 13% สามารถลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและนอกฤดูกาลได้แคบลงกว่าเดิม
รวมทั้งเพิ่มรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อราย สร้างการจ้างงาน 9,000 - 15,000 ตำแหน่ง โดยการลงทุนแต่ละจุดจะช่วยสร้างรายได้ให้กับรัฐไม่ต่ำกว่า 1.2 - 4 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกิจที่เป็นโรงแรม สวนสนุก สถนาที่ท่องเที่ยว อีกส่วนคือรายได้จากการพนัน โดยรายได้ทั้งหมดนั้นจะนำไปพัฒนาประเทศ และนำกลับไปเยียวยากำกับและบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมการพนันต่อไป
"ขั้นตอนสุดท้ายอำนาจจะไปอยู่ที่รัฐสภาในการวินิจฉัยกฎหมายว่าจะต้องมีการปรับแก้ หรือปรับเพิ่มเติมตรงไหน เพื่อให้ตรงกับสภาวะแวดล้อมของประเทศไทย หรือถูกกับจริตของคนไทย ก่อนจะบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ สร้างรายได้ให้กับรัฐ รวมทั้งลดปัญหาการพนันผิดกฎหมายต่อไป"
อย่างไรก็ตามในส่วนของการกำหนดพื้นที่ หรือกิจการ จำนวนของผู้ที่จะเข้ามาลงทุนนั้น รมช.ยอมรับว่า กระทรวงการคลัง ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะการพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ จะเป็นอำนาจของสำนักงาน และกรรมการบริหารเอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นผู้พิจารณาทั้งหมด
"กระทรวงการคลังไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะมีสร้างกี่แห่ง และไม่มีหน้าที่กำกับ อีกทั้งในคณะกรรมการก็ไม่มี รมช.คลัง เพราะที่ผ่านมาได้รับมอบหมายให้ไปยกร่งกฎหมาย ก็ทำไปแค่นั้น ไม่ได้ระบุว่าต้องมีจำนวนเท่าไหร่ หนักที่สุดคือมีการบอกว่าใครจะมาทำตรงไหน ยืนยันว่า รัฐบาลยังไม่มีการพูดคุย ต้องโปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยการลงทุนก็ต้องออกทีโออาร์ ผู้ลงทุนต้องเสนอเข้ามาแข่งขันกัน แต่ทั้งหมดนี้คณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนดและพิจารณารายละเอียด"
นอกจากนี้ในส่วนของการจัดเก็บรายได้นั้น จะมีการกำหนดให้ชัดเจนในคณะกรรมการว่าจะจัดสรรไปที่ไหนบ้าง เช่น สัดส่วนหลัก ๆ จะนำส่งคืนรัฐ เพื่อเป็นรายได้ตามกลไกของงบประมาณ อีกส่วนเป็นการจัดสรรคืนไปยังพื้นที่ หรือภาคการศึกษา และการเยียวยาต่าง ๆ ในมิติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ทำการจัดตั้งเอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์ด้วย