ผ่าปัญหา “ความยากจน” 3 จังหวัดชายแดนใต้ เหตุใดถึงจนรุนแรงนาน 15 ปี

25 ต.ค. 2567 | 18:03 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2567 | 18:12 น.

ผ่าปัญหา “ความยากจน” ประเทศไทย ปี 2566 พบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ น่าห่วง เผชิญกับปัญหาความยากจนในระดับรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปี เจาะลึกถึงสาเหตุเชิงลึกที่เกิดขึ้น

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาคใต้ มีสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 7.48% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนคนจนอยู่ 4.16% และภาคเหนือ มีสัดส่วนคนจนอยู่ 3.64%

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคใต้มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุด มาจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุน โอกาสในการประกอบอาชีพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ประชาชนจำนวนมากสูญเสียทรัพย์สิน ขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน และเข้าถึงบริการทางสังคมได้อย่างจำกัด

สถานการณ์ความยากจนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การวัดระดับความยากจนในด้านตัวเงิน โดยพิจารณาจากรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เผชิญกับปัญหาความยากจนในระดับรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 15 ปี สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ความยากจนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2565 - 2567 ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งวิเคราะห์ปัญหาความยากจนด้วยฐาน ทุนการดำรงชีพ 5 ด้าน ได้แก่

  • ทุนมนุษย์
  • ทุนกายภาพ
  • ทุนเศรษฐกิจ
  • ทุนธรรมชาติ
  • ทุนสังคม

ผลการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนยากจนชี้เป้าระดับจังหวัด โดยมหาวิทยาลัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ปัจจุบันมีคนจนในพื้นที่รวม 48,119 ครัวเรือน หรือ 249,300 คน คิดเป็น 9.91% ของประชากรทั้งหมด โดยจังหวัดปัตตานีมีสัดส่วนคนจนสูงสุด คิดเป็น 15.06% ของ ประชากรในจังหวัด ตามมาด้วยจังหวัดยะลา และนราธิวาส ที่ 8.06% และ 6.87% ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาฐานทุนการดำรงชีพ 5 ด้าน พบว่า นอกจากจะเผชิญกับความยากจนในรูปตัวเงินแล้ว คนจนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังประสบ วัดชายแดนใต้ยังประสบกับปัญหาความยากจนในมิติอื่น ๆ ดังนี้

1.ทุนมนุษย์ ขาดทักษะ อาชีพที่สามารถสร้างรายได้ 144,608 คน หรือคิดเป็น 58.01% ของคนจนในพื้นที่ และเข้าไม่ถึงระบบ การศึกษา 34,796 คน คิดเป็น 13.95% 

2.ทุนเศรษฐกิจ ไม่มีเงินออม 32,494 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 67.53% ของครัวเรือนยากจนในพื้นที่ และมีหนี้สิน 24,104 ครัวเรือน คิดเป็น 50.01% 

3.ทุนสังคม ขาดการช่วยเหลือกันในชุมชน 23,813 ครัวเรือน คิดเป็น 49.49%และไม่สามารถไกล่เกลี่ย จัดการปัญหาความขัดแย้งของชุมชน 20,024 ครัวเรือน คิดเป็น 41.61%

4. ทุนกายภาพ ไม่มีที่ดิน ทำกินทางการเกษตร 22,994 ครัวเรือน คิดเป็น 47.79% 

5.ทุนธรรมชาติ พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ เสี่ยงภัยพิบัติ 14,019 ครัวเรือน คิดเป็น 29.13%

สำหรับข้อมูลดังกล่าวได้ถูกนำไปพัฒนาเป็นระบบข้อมูล ครัวเรือนยากจนระดับจังหวัด (Practical Poverty Provincial Connext) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดในการ ขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นองค์รวม อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำต่อไป