ผ่า 10 จังหวัด "คนจน" สูงสุดปี 2566 อึ้งบางแห่งครองแชมป์จนนาน 15 ปี

25 ต.ค. 2567 | 06:01 น.
7.0 k

เปิดข้อมูล สศช. กับ 10 จังหวัดที่มี "คนจน" ในประเทศไทย สูงที่สุดในปี 2566 พบข้อมูลเชิงลึกกับจังหวัดที่มีคนจนเรื้อรัง บางแห่งครองแชมป์จนยาวนานถึง 15 ปี เช็ครายละเอียดทั้งหมด สรุปไว้ง่าย ๆ ที่นี่

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำ รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 เนื้อหาสำคัญพบตัวเลขจำนวน “คนจน” ในประเทศยังอยู่ในอัตราที่สูงกว่า 2.39 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน อยู่ที่ 3.41%

ทั้งนี้หากพิจารณาภาพรวม สถานการณ์ความยากจนในระดับจังหวัด พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า จำนวนคนจนในระดับจังหวัดปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่มีสัดส่วนคนจนลดลง โดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนลดลงมากที่สุด 5 จังหวัด ได้แก่ 

  • แม่ฮ่องสอน
  • ตาก
  • ศรีสะเกษ
  • กาฬสินธุ์
  • พะเยา 

โดยมีเพียง 12 จังหวัดเท่านั้น ที่มีสัดส่วนคนจนเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ประกอบด้วย

  • ประจวบคีรีขันธ์
  • สุพรรณบุรี
  • กำแพงเพชร
  • สตูล
  • ชัยภูมิ
  • พิษณุโลก
  • ตราด
  • สุราษฎร์ธานี
  • สมุทรปราการ
  • ชลบุรี
  • สมุทรสงคราม
  • ปทุมธานี 

ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่ในภาคกลางเป็นหลัก อย่างไรก็ดี กลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคง มีสัดส่วนคนจนอยู่ในระดับสูง

สัดส่วนคนจนจำแนกรายจังหวัด

จากรายงานพบว่า จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่

  • ปัตตานี
  • นราธิวาส
  • แม่ฮ่องสอน
  • พัทลุง
  • สตูล
  • หนองบัวลำภู
  • ตาก
  • ประจวบคีรีขันธ์
  • ยะลา
  • ตรัง 

โดยปัตตานีและแม่ฮ่องสอนติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของ จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 15 ปี สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความยากจนเรื้อรังในจังหวัดดังกล่าว 

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาจาก 10 จังหวัดแรกที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดในปี 2566 จะพบว่า 5 ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ตาก และยะลา มักติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของจังหวัดที่มีสัดส่วน คนจนสูงสุดในปีอื่น ๆ ด้วย กล่าวคือ มีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาความยากจนเรื้อรัง

ทั้งนี้หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนกับสัดส่วนคนจนรายจังหวัด ตามแผนภาพด้านล่าง พบว่า ส่วนใหญ่จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนสูงมักจะมีสัดส่วนคนจนต่ำ

ขณะที่ จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำจะมีสัดส่วนคนจนสูง ซึ่งรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิด การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในฐานะกลไกสำคัญที่ช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนของประเทศ 

อีกทั้งยังสอดคล้องกับผลการศึกษาองค์ประกอบความยากจนที่อธิบายการปรับตัวลดลงของความยากจนว่า เป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและหลุดพ้นจากความยากจน

แต่ในระยะหลังกลับมีผลต่อการลดลงของความยากจนเพียงส่วนน้อย เพราะปัจจัยทางด้านการกระจายรายได้ไม่ได้เป็นไปในทิศทางที่ดี ทำให้ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมักกระจุกตัวในกลุ่มผู้มีรายได้สูงแทน

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ความยากจน ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566

 

อย่างไรก็ตาม มีบางจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนค่อนข้างสูงแต่กลับมีสัดส่วนคนจนสูงเช่นกัน เช่น นครศรีธรรมราช อ่างทอง ลำปาง เช่นเดียวกับในบางพื้นที่ที่มีจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างต่ำและมีสัดส่วนคนจนต่ำ เช่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ทำให้ในอีกมุมหนึ่ง จึงอาจไม่สามารถนำไปสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่าการมีรายได้สูงขึ้นจะช่วยแก้ไขปัญหายากจนได้เสมอไป เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่น โดยเฉพาะปัจจัยด้านความเหลื่อมล้ำแฝงอยู่