สศช.เปิดข้อมูลใหม่ ความเหลื่อมล้ำไทย ปี 2566 ดีขึ้นแต่ยังไม่สุด

24 ต.ค. 2567 | 07:15 น.

สศช. เปิดข้อมูลใหม่ รายงานสถานการณ์ “ความเหลื่อมล้ำ” ในประเทศไทย ปี 2566 พบปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังซ่อนปมปัญหาไว้หลายด้าน ทั้งช่องว่างคนรวบ-คนจน การถือครองทรัพย์สิน โอกาสเข้าถึงบริการรัฐ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 โดยพบว่า สถานการณ์ "ความเหลื่อมล้ำ" ด้านรายได้ของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ ลดลงจาก 0.430 ในปี 2564 มาอยู่ที่ 0.417 ในปี 2566

สำหรับแนวโน้มการปรับตัวลดลงของความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ในปี 2566 สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาคเกษตรกรรมที่ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ทำงาน ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่ผู้มีรายได้สูงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนหน้า ทำให้ภาพรวมของประชากรกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด (Decile 9 - 10) มีการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย (Decile 1 - 8) อย่างชัดเจน นำไปสู่การลดลงของช่องว่างระหว่างกลุ่มที่มีรายได้สูงและกลุ่มที่มีรายได้น้อย 

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ "ความเหลื่อมล้ำ" ของประเทศไทย ในปี 2566

 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างของรายได้ที่เป็นตัวเงิน พบว่า รายได้หลักของทุกกลุ่มประชากรยังคง มาจากรายได้จากการทำงาน แม้ว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มพึ่งพาเงินโอนจากบุคคลอื่นและเงินช่วยเหลือ จากภาครัฐในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง ในขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนรายได้จากบำเหน็จ/ บำนาญที่สูงกว่า

ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่าย

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายของประเทศไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ค่าสัมประสิทธิ์ ความไม่เสมอภาคด้านรายจ่ายลดลงจาก 0.343 ในปี 2565 มาอยู่ที่ 0.335 ในปี 2566 โดยส่วนแบ่งรายจ่ายของกลุ่มที่มีรายจ่ายสูงสุด (Decile 10) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ส่วนแบ่งรายจ่ายของกลุ่มที่มีรายจ่ายต่ำ (Decile 1 - 8) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้กลุ่มประชากรที่มีรายจ่ายต่ำจะมีส่วนแบ่งการใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 

แต่การใช้จ่ายส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้กลับมุ่งเน้นไปยังสินค้าจำเป็นเพื่อการยังชีพเป็นหลัก โดยกลุ่มที่มีรายจ่ายต่ำสุด 20% (Decile 1 และ 2) ใช้จ่ายเงินไปกับอาหารและเครื่องดื่มมากถึงกว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่ายทั้งหมด ขณะที่กลุ่มที่มีรายจ่ายสูงสุด 10% (Decile 10) ใช้จ่ายเงินส่วนใหญ่ไปกับสินค้าและบริการอื่นที่ไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐาน

เช็คความมั่งคั่งคนไทย กลุ่มรวย-จน

ด้านความมั่งคั่ง แม้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินรวมของไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง กลุ่มที่มีรายได้สูงมีส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินเกือบทุกประเภทสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินทางการเงิน ซึ่งกลุ่มที่มีรายได้สูงมีส่วนแบ่งการถือครองสูงถึง 49.87% ของมูลค่าทั้งหมด 

ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อยถือครองเพียง 10.35% เท่านั้น และกลุ่มที่มีรายได้สูงยังมีส่วนแบ่งการถือครองยานพาหนะและที่อยู่อาศัยสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้น้อย อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีรายได้น้อยกลับมีส่วนแบ่งการถือครองทรัพย์สินประเภทที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างเพื่อธุรกิจและการเกษตรสูงกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูง (Decile 10)

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ "ความเหลื่อมล้ำ" ของประเทศไทย ในปี 2566

 

การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

ส่วนภาพรวมการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษายังคงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยมีความก้าวหน้าในการเข้าถึง การศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานกลับเผชิญปัญหาการหลุดออกจากระบบ การศึกษา โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาโครงสร้างค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา พบว่า เด็กในครัวเรือนที่มีเศรษฐานะดีกว่ามีสัดส่วนการใช้จ่ายค่าเล่าเรียนสูงกว่าครัวเรือนที่มีเศรษฐานะต่ำกว่า อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเด็กในครัวเรือนที่มีเศรษฐานะดีที่สุด (Decile 10) มีการใช้จ่ายค่าเล่าเรียน คิดเป็นสัดส่วน 76.04% ของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งหมด 

ขณะที่เด็กในครัวเรือนที่มีเศรษฐานะต่ำ (Decile 1 - 4) ใช้จ่ายค่าเล่าเรียนเป็นสัดส่วนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งหมด และต้องแบกรับภาระค่าเดินทางเพื่อการศึกษาในสัดส่วนที่สูงกว่า 

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษายังมี ความเชื่อมโยงกับสังกัดโรงเรียน ขนาดโรงเรียน และเศรษฐานะของครัวเรือน โดยกลุ่มโรงเรียนที่เน้น การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ รวมถึงนักเรียนจากครัวเรือนที่มีเศรษฐานะดีกว่ามีคุณภาพการศึกษาที่ดีกว่านักเรียนจากครัวเรือนที่มีเศรษฐานะต่ำกว่าอย่างชัดเจน สะท้อนผ่านคะแนนการทดสอบ O-NET และ PISA

ความเหลื่อมล้ำบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน

สศช. ระบุว่า ประเทศไทยได้บรรลุความครอบคลุมในการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพในระดับสูง โดยในปี 2566 ประชากรไทยกว่าร้อยละ 99.56 ได้รับสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน แต่ยังคงสะท้อนความเหลื่อมล้ำ ทางด้านคุณภาพการบริการระหว่างพื้นที่จากการกระจุกตัวของบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยในเมืองใหญ่ 

ขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการเข้าถึงสวัสดิการและบริการภาครัฐ พบว่า 

  • เด็กแรกเกิดในครัวเรือน ที่มีเศรษฐานะต่ำสุด 40% (Bottom 40) ได้รับเงินอุดหนุนที่สัดส่วน 60.41% สูงกว่ากลุ่มที่มีเศรษฐานะ ปานกลาง (Middle 50) และเศรษฐานะสูง (Top 10) 
  • ภาพรวมสัดส่วนผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผู้สูงอายุที่มีเศรษฐานะต่ำที่สุด (Decile 1) มีสัดส่วนการเข้าถึงเบี้ยยังชีพลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 
  • จำนวนคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเพิ่มขึ้น โดยในกลุ่มที่มีเศรษฐานะต่ำที่สุด (Decile 1) จะมีสัดส่วนที่ได้รับเบี้ยความพิการสูงกว่าค่าเฉลี่ย 
  • ประชาชนที่มีรายได้น้อยได้รับความช่วยเหลือ ทางกฎหมายจากกองทุนยุติธรรมเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนการอนุมัติให้ความช่วยเหลืออยู่ที่ 65.62% สูงสุด ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนยุติธรรมเป็นต้นมา

 

ภาพประกอบข่าว สถานการณ์ "ความเหลื่อมล้ำ" ของประเทศไทย ปี 2566

 

การเข้าถึงที่ดินและแหล่งทุน

ด้านการเข้าถึงที่ดินและแหล่งทุน สัดส่วนการถือครองที่ดินของเกษตรกรรายย่อยมีแนวโน้มลดลง ขณะที่สัดส่วนการถือครองที่ดินของเกษตรกรรายใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างกลุ่มประชากรที่มีเศรษฐานะต่างกัน โดยเกษตรกรที่มีเศรษฐานะดีกว่าจะมีโอกาสในการถือครองที่ดินและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่าและหลากหลายกว่าเกษตรกรที่มีเศรษฐานะต่ำกว่า

การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน

การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะบริการไฟฟ้าและ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ความสำเร็จในการขยายระบบไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้การเข้าถึงบริการไฟฟ้าของประชากรทุกระดับเศรษฐานะมีความเท่าเทียมกันสูง

โดยกลุ่มที่มีเศรษฐานะต่ำที่สุด (Decile 1) สามารถเข้าถึงบริการไฟฟ้าได้ถึง 99.52% ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มที่มีเศรษฐานะสูงสุด (Decile 10) ที่มีอัตราการเข้าถึงอยู่ที่ 100%

ขณะที่การเข้าถึงบริการน้ำประปาภายในบ้าน และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ยังคงมีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มที่มีเศรษฐานะแตกต่างกัน โดยกลุ่มที่มีเศรษฐานะต่ำมีอัตราการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวต่ำกว่ากลุ่มที่มีเศรษฐานะดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด