สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566 พบว่า สถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวน "คนจนไทย" ลดลง จาก 3.79 ล้านคน ในปี 2565 มาอยู่ที่ 2.39 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน 3.41% ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 5.43%
ทั้งนี้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ความยากจนในปี 2566 เป็นผลมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีสัดส่วนแรงงานยากจนสูงที่สุด ประกอบกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ที่เป็นการลงทะเบียนรอบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้คนจนโดยเฉพาะผู้ที่เคยตกหล่นจากการลงทะเบียนรอบก่อนหน้า สามารถเข้าถึงบริการและสวัสดิการต่าง ๆ ของภาครัฐมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมสถานการณ์ความยากจนจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่กลุ่มคนเปราะบางต่อความยากจนยังคงต้อง ให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการกลายเป็นคนจน เพราะมีระดับความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับเส้นความยากจน
รวมทั้งยังต้องเผชิญกับปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากความเสี่ยงได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะปัญหาทางด้านสภาพแวดล้อมภายในครัวเรือน การประกอบอาชีพ และการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน
ขณะที่มิติทางด้านพื้นที่ ส่วนใหญ่ประชากรนอกเขตเทศบาล เผชิญกับภาวะความยากจนสูงกว่าประชากรในเขตเทศบาลอย่างชัดเจน รวมทั้งภาคใต้ยังเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง
สศช. ระบุว่า ครัวเรือนยากจนมีภาระในการดูแลสมาชิกมากกว่าครัวเรือนไม่ยากจน โดยในปี 2566 อัตราการพึ่งพิงของครัวเรือนยากจนอยู่ที่ 103.39% เทียบกับ 62.34% ของครัวเรือนไม่ยากจน อีกทั้งสัดส่วนคนจนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามขนาดของครัวเรือน
ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่า จำนวนสมาชิกส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (Economically Inactive) ทำให้ขนาดของครัวเรือนที่ใหญ่ขึ้นส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอต่อการบริโภคของทุกคนในครัวเรือน
นอกจากนี้ กลุ่มประชากรที่มีระดับการศึกษาต่ำมีปัญหาความยากจนมากที่สุด โดยประชากรที่ไม่ได้เรียนหนังสือมีสัดส่วนคนจนมากที่สุดอยู่ที่ 9.51% และแนวโน้มสัดส่วนคนจนดังกล่าวจะปรับตัวลดลงตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งกลุ่มที่มีระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป มีสัดส่วนคนจนต่ำกว่า 2%
จากรายงานยังระบุว่า คนจนในประเทศไทยเกือบทั้งหมดสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลจากภาครัฐ ในปี 2566 คนจน 97.53% ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากภาครัฐในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยสิทธิการรักษาพยาบาลที่คนจนเข้าถึงมากที่สุด คือ
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนผู้สูงอายุยากจนที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุลดลงเล็กน้อย จาก 96.16% ในปี 2565 เป็น 94.19% ในปี 2566
ขณะที่สัดส่วนคนพิการยากจนที่ได้รับเบี้ยความพิการลดลงอย่างมาก จาก 81.34% ในปี 2565 เป็น 73.85% ในปี 2566 สำหรับการเข้าถึงบริการพื้นฐานครัวเรือนยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปา มีสัดส่วน 19.02% โทรศัพท์เคลื่อนที่ (สมาร์ทโฟน) มีสัดส่วน 25.03% และสัญญาณอินเทอร์เน็ต มีสัดส่วน 31.18%
ความยากจนหลายมิติของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 ดัชนีความยากจน หลายมิติมีค่าเท่ากับ 0.032 โดยสัดส่วนคนจนหลายมิติต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 8.76% คิดเป็นจำนวนคนจนหลายมิติประมาณ 6.14 ล้านคน และระดับความรุนแรงของความยากจนอยู่ที่ 37.06%
โดยมิติที่ส่งผลต่อความยากจนหลายมิติมากที่สุด คือ มิติความเป็นอยู่ที่ 35.79% ขณะที่มิติการศึกษามีผลต่อ ความยากจนหลายมิติน้อยที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 15.19%
นอกจากนี้ แนวโน้มสถานการณ์ความยากจน ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินของจังหวัดส่วนใหญ่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดย 68.83% ของจังหวัดทั้งหมด เช่น กาฬสินธุ์ พะเยา ศรีสะเกษ นครราชสีมา นครสวรรค์ เป็นต้น อยู่ใน “กลุ่มที่มีการพัฒนา” เพราะ มีแนวโน้มความยากจนดีขึ้นทั้งในส่วนของความยากจนตัวเงิน และความยากจนหลายมิติ
อย่างไรก็ตาม ยังมี “กลุ่มเสี่ยงสูง” ได้แก่ ลพบุรี ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก และมุกดาหาร เป็นจังหวัดที่ภาครัฐควรให้ ความสำคัญ เนื่องจากมีแนวโน้มความยากจนเพิ่มขึ้นทั้งในด้านความยากจนที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน