การใช้เทคโนโลยีในการปราบปรามสแกมเมอร์

17 ก.พ. 2568 | 07:45 น.

การใช้เทคโนโลยีในการปราบปรามสแกมเมอร์ คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีคำถามจากหลากหลายวงการว่า การปราบปรามกลุ่มอาชญากรทางเทคโนโลยี ที่กำลังเป็นปัญหาตามชายแดนเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปได้หรือไม่ ? การใช้มาตรการ “สามตัด”ของรัฐบาลไทย จะทำให้กลุ่มสแกมเมอร์เหล่านี้โยกย้ายฐานที่มั่นหรือไม่? แล้วจุดหมายปลายทาง(Destinations) ต่อไปของกลุ่มนี้ต่อไปจะเป็นที่ประเทศไหน? ผมเชื่อว่าคำถามเหล่านี้ไม่สามารถไม่มีใครตอบได้อย่างแม่นยำหรอกครับ แต่ก็พอจะคาดเดาได้เท่านั้น คนที่จะตอบได้ดีที่สุด ต้องเป็นเจ้าของกลุ่มเงินหรือตัวหัวๆ ทั้งหลาย ที่เป็นทั้งเจ้าของกิจการเท่านั้นถึงจะตอบได้ครับ

หากมองกันตามแบบฉบับของผม ผมเชื่อว่าหลังจากดำเนินนโยบายไปแล้ว กลุ่มชั่วร้ายเหล่านี้จะหมดสิ้นไปทั้งหมดหรือไม่นั้น คิดว่าคงไม่สามารถหมดสิ้นไปได้หรอกครับ ถ้าตราบใดที่ความทะเยอทะยานหรือความโลภของมนุษย์ยังคงมีอยู่ จะไม่มีทางที่จะหมดสิ้นไป เขาต้องคิดที่จะหาช่องทางโยกย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ไม่รู้จักหยุดหย่อนแน่นอน เพราะเงินทองไม่เข้าใครออกใคร หรือจุดหมายปลายทางจะไปตกอยู่ที่ประเทศไหน คงไม่ต้องไปคิดเผื่อเขาหรอก เพราะปัจจุบันนี้โลกได้เข้าสู่ยุคของ IT ไปตั้งหลายปีแล้ว อนาคตยิ่งจะมีพัฒนาการมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว ดังนั้นจะอยู่ที่แห่งหนตำบลใดก็ไม่สำคัญ เขาก็จะสามารถส่งสัญญาณไปได้หมดอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็ควรจะช่วยเหลือตนเองหรือปกป้องคนในชาติของเราให้ดี อย่าได้ปล่อยให้สิ่งชั่วร้ายไม่ว่าจะเข้ามาโดยตรงหรือแฝงตัวมาตามรูปแบบต่างๆ เข้ามาสู่สังคมไทยเรา ก็ใช้ได้แล้วครับ

การดูแลปกป้องประชาชนคนไทยเรา อันที่จริงประเทศเราก็มีหน่วยงานที่เก่งกาจอยู่หลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ ผมมีความมั่นใจว่าเรามีคนเก่งๆ อยู่เยอะ เพียงแต่เขาจะใช้ความเก่งของเขา มาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่เท่านั้น เรื่องนี้ก็ต้องแล้วแต่ผู้นำในองค์กรของทุกๆ หน่วยนั่นแหละครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ในองค์กร เพราะเราสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร มาดูแลประชาชนคนไทยเราได้เป็นอย่างดี เช่นการใช้เทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์(AI), ทางด้านการเรียนรู้ด้านเครื่องกลต่างๆ (Machine Learning :ML) , เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) , เทคโนโลยีในระบบจดจำใบหน้าและไบโอเมตริกซ์ , ระบบเฝ้าระวังชายแดนอัจฉริยะ (Smart Border Surveillance) หรือการใช้เทคโนโลยีในระบบ Cyber Security เพื่อมาใช้ปิดเว็บไซต์และแอปพลิเคชันหลอกลวง เป็นต้นครับ

ผมอยากจะขอยกตัวอย่างสักสอง-สามตัวอย่างให้ดู อีกทั้งดูว่าในโลกนี้ มีประเทศไหนบ้าง ที่เขานำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ เช่น เทคโนโลยีด้าน AI และ ML ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม เช่น ข้อมูลพฤติกรรมทางการเงิน การเดินทาง และการติดต่อสื่อสาร ซึ่งที่ใช้คัดกรองข้อมูลผู้เดินทางอัตโนมัติ โดยมีหลายประเทศก็ได้นำมาใช้แล้ว ผมเชื่อว่าในประเทศไทยก็น่าจะมีการนำมาใช้แล้วเช่นกันครับ หรือการใช้ AI เพื่อช่วยตรวจสอบพฤติกรรมของบุคคลที่เดินทางบ่อยๆ เช่น ผู้ที่เดินทางเดือนละหลายครั้งโดยไม่มีเหตุผลทางธุรกิจที่ชัดเจน ระบบสามารถเปรียบเทียบฐานข้อมูลบุคคลต้องสงสัย หรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ประเทศที่ช้ได้ผลมากๆ ก็เช่นที่สหรัฐอเมริกา และยุโรป เป็นต้น

ใช้ AI ตรวจสอบรายชื่อบุคคลต้องห้ามที่สนามบิน วิเคราะห์พฤติกรรมทางการเงินของบุคคลที่อาจเกี่ยวข้องกับฟอกเงิน เช่น การรับโอนเงินจากบัญชีหลายบัญชีโดยไม่มีที่มาชัดเจน หรือการถอนเงินจำนวนมากจากตู้ ATM ต่างประเทศ ซึ่งในประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านเรา คือ ประเทศสิงคโปร์ ที่ใช้ AI ตรวจจับธุรกรรมต้องสงสัย และส่งข้อมูลให้ตำรวจอาชญากรรมทางการเงิน (Financial Crimes Unit)ที่ได้ผลอย่างดีมากๆ เช่นกัน

อีกหนึ่งที่ใช้ในการมาตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพราะปัจจุบันนี้ อาชญากรทางเทคโนโลยี มักจะชอบใช้สกุลเงินดิจิทัล เช่น Bitcoin และ Cryptocurrency เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบทางการเงิน ดังนั้นเราก็ควรนำเอาเทคโนโลยี บล็อกเชน (Blockchain) มาช่วยให้ข้อมูล ที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการติดตามธุรกรรมทางการเงินของอาชญากรนั่นเองครับ ยกตัวอย่างเช่นที่สหรัฐอเมริกา ทางเจ้าหน้าที่ FBI สามารถติดตาม Bitcoin ของแฮกเกอร์ ที่โจมตีบริษัท Colonial Pipeline ได้โดยใช้ข้อมูลจากบล็อกเชน จนสามารถทลายกลุ่มสแกมเมอร์ได้อย่างได้ผลนั่นเองครับ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ประเทศเอสโตเนีย เขาได้นำเอาใช้บล็อกเชน มาใช้ในการควบคุมบันทึกข้อมูลการเดินทางข้ามแดน โดยใช้เอกสารปลอม ที่ได้ผลเป็นอย่างดีครับ

อีกเทคโนโลยีหนึ่ง ที่ประเทศไทยได้นำมาใช้แล้ว แต่ยังไม่เต็มที่ คือเทคโนโลยีระบบจดจำใบหน้าและไบโอเมตริกซ์ ผมเองเป็นคนที่เดินทางเข้า-ออกสนามบินเป็นประจำ แรกๆ ที่เรานำมาใช้ ผมดีใจมากที่เห็นการพัฒนาการเทคโนโลยีของไทยเรา แต่พอระยะหลังๆ มานี้ ระบบกลับถูกปล่อยปะละเลยมาก สังเกตุเห็นจากการที่สนามบินหลายแห่งในประเทศไทย กลับไม่ยอมใช้เครื่องสแกนใบหน้า สงสัยคงจะกลัวพนักงานตกงานหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะยังใช้กำลังคนในการตรวจสอบบันทึกการเข้า-ออกอยู่เช่นในอดีต ทั้งๆ ที่เสียงบประมาณซื้อเครื่องสแกนใบหน้ามา กลับไม่ใช้ หรือแค่ใช้มาตั้งโชว์ใว้เท่ๆ ก็ไม่ทราบครับ ฝากหน่วยงานในสังกัดช่วยดูแลด้วยนะครับ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ สนามบินกัวลาลัมเปอร์ สนามบินปีนัง ประเทศมาเลเซีย หรือแม้กระทั้งสนามบินโหน่ยไบ๋ สนามบินเติน เซิน นึกในประเทศเวียดนาม เขาก็ใช้ระบบ AI และไบโอเมตริกซ์แทนเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองกันไปทุกๆ สนามบินแล้ว ไม่เพียงแต่สามารถเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลสากล เช่น Interpol หรือ FBI เพื่อตรวจสอบว่าผู้เดินทางมีหมายจับหรือไม่? อีกทั้งยังช่วยคัดกรองอาชญากรข้ามชาติได้ด้วยเช่นกันครับ

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เขานำมาช่วยป้องกันการลักลอบข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ ระบบนี้เป็นการเฝ้าระวังชายแดนอัจฉริยะ (Smart Border Surveillance) โดยในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศ เขาได้นำเอาการใช้เครื่องบินไร้คนขับหรือโดรน (Drones) และดาวเทียม มาช่วยตรวจจับกลุ่มที่ลักลอบข้ามพรมแดน โดยใช้ภาพความร้อนเพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวในเวลากลางคืน หรือใช้ระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับเสียงและการเคลื่อนไหวในพื้นที่เสี่ยง ตัวอย่างที่ผมเคยเห็นมาจากทางสื่อฯต่างๆ ในเอเชียเราก็มีการนำมาใช้ คือที่ประเทศอิสราเอล ซึ่งเขาใช้เซ็นเซอร์ IoT เฝ้าระวังชายแดนกับปาเลสไตน์เป็นต้นครับ

จะเห็นได้ว่า การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการช่วยปราบปรามกลุ่มสแกมเมอร์ต่างๆ ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากเราวิ่งไม่ทันเขา ก็เท่ากับเราล้าหลังเขา แล้วเราจะไล่จับเขาได้อย่างไรครับ