นายมนัสชัย คงรักษ์กวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า GPSC ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดหาพลังงานหมุนเวียน หรือแสวงหาโอกาสการพัฒนาแนวทางการลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ร่วมกับนวัตกรรมด้านการจัดการพลังงาน
ผ่านสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) และ/หรือ ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA) กับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
โดย GPSC จะเป็นผู้จัดหาพลังงานหมุนเวียนด้วยนวัตกรรมและโซลูชั่นต่างๆ ด้านการบริหารจัดการพลังงานอย่างครบวงจร เป็นไปตามนโยบายของ เดลต้า ที่มีความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 100% (RE 100) สู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2573
สำหรับแผนการศึกษาในครั้งนี้ จะพิจารณาพลังงานหมุนเวียน และการใช้น้ำเย็นคาร์บอนต่ำที่เหมาะสม ซึ่งสามารถนำมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านจัดการพลังงาน ที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานที่มีเสถียรภาพในการป้อนกำลังไฟฟ้าเพื่อการผลิต
ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการวางระบบส่งและโซลูชันด้านการบริหารจัดการพลังงานอย่างครบวงจร บริหารจัดการต้นทุนด้านพลังงาน และเป็นไปตามข้อกำหนดการส่งออกไปยังต่างประเทศ ป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต โดยGPSC และ เดลต้า จะพัฒนาโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) เพื่อเดินหน้าสู่การลดคาร์บอนฯ ร่วมกัน
นายแจ็คกี้ จาง ประธานฝ่ายบริหารและปฏิบัติการ (COO) ของบริษัทเดลต้า ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทฯมุ่งพัฒนาธุรกิจโดยใช้นวัตกรรมและให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในยุคที่มีความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดคือพันธกิจสำคัญของบริษัท โดยตั้งเป้าใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2573
และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2593 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมของบริษัท จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยนการใช้พลังงาน โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาดมากขึ้น
รวมถึงปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อราคาพลังงานให้มีความผันผวนในระดับสูง และข้อกำหนดการค้าระหว่างประเทศที่เข้มข้นในเรื่องการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ผู้ประกอบการผลิตสินค้าต้องแสวงหาการพัฒนาพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบัน GPSC มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางด้านพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกับผู้ประกอบที่แสวงหานวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและบริบทใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง