บ่อน (ทำลาย?)

19 ก.พ. 2568 | 11:37 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2568 | 11:54 น.

บ่อน (ทำลาย?) : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... ผศ.ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ การเปิดเสรีกาสิโนผ่านการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ในประเทศไทย กลายเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ของข้อดีและข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการมีกาสิโนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสีเทาอื่น ๆ ที่มีข้อกังขาทางศีลธรรมและจริยธรรมอีกมากมาย 

ถึงอย่างไรก็ตาม ธุรกิจกาสิโนนั้น ก็ได้รับความนิยมและมีการเติบโตขึ้นในระดับที่สูงมากอย่างต่อเนื่องทั่วโลก หากเราย้อนมองกลับไปในปี 1970 จำนวนกาสิโนถูกกฎหมายที่มีอยู่ทั่วโลกนั้น มีอยู่เพียงแค่ 15 แห่งเพียงเท่านั้น
 

แต่ในปัจจุบันจำนวนกาสิโนถูกกฎหมายที่มีอยู่ในทั่วโลกนั้น มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมากถึงประมาณ 5,000 แห่ง (รวมกาสิโนออนไลน์ที่ถูกกฎหมายเข้าไปด้วย) โดยมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบการพนันที่ถูกกฎหมายทั้งหมดในปี 2023 เป็นจำนวนมากถึงเกือบ ๆ 20 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว และมีแนวโน้มที่ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 5-7 ในปีถัด ๆไป (WHO, 2024) ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงขนาดและอิทธิพลของธุรกิจกาสิโนในระดับโลก

บทความนี้จะพาทุกท่านสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นแล้ว โดยนำเสนอทั้งข้อดีและข้อเสียอย่างรอบด้าน พร้อมแสดงข้อคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน

แต่ก่อนจะเข้าสู่ประเด็นหลักขออนุญาตพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับสองเกาะเล็ก ๆ ในเอเชียอย่าง มาเก๊า และ สิงคโปร์ ที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลจากธุรกิจ “บ่อน” หรือที่เรียกกันในชื่อหรู ๆ ว่า “กาสิโน”

จุดเริ่มต้นของบ่อน

ในปัจจุบันหลายประเทศเลือกใช้กาสิโนเป็นกลไกสำคัญในการสร้างรายได้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ รวมถึง มาเก๊า และ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นสองกรณีศึกษาสำคัญในภูมิภาคเอเชีย โดยในปี 2024 รายได้จากธุรกิจกาสิโนของมาเก๊า สูงมากถึง 1 ล้านล้านบาท ในขณะที่สิงคโปร์ทำรายได้ราว 2 แสนล้านบาท (Reuters, 2025) โดยเฉพาะในกรณีของมาเก๊า รายได้จากกาสิโนคิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาล 

แม้ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นทางด้าน รายได้ การจ้างงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการสังคม แต่ก็ต้องแลกมากับปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่ตามมา

ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเกิดอาชญากรรมที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของธุรกิจสีเทาและการฟอกเงิน ภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนค่าครองชีพที่พุ่งสูง และมลพิษที่เพิ่มขึ้น โดย มาเก๊า เป็นดินแดนแรกในเอเชียที่ทำให้กาสิโนถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 1847

โดยในช่วงปี 1960-2002 อุตสาหกรรมนี้ถูกผูกขาดโดยบริษัทเดียว คือ SJM Holdings ซึ่งบริหารโดย Stanley Ho จนกระทั่งรัฐบาลจีนเปิดให้ธุรกิจกาสิโนสามารถแข่งขันได้เสรีในปี 2002 ทำให้มาเก๊ากลายเป็นศูนย์กลางการพนันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งสามารถแซงหน้าลาสเวกัสไปได้ในแง่ของรายได้

ในส่วนของประเทศสิงคโปร์ หลังจากที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1965 รัฐบาลสิงคโปร์ในตอนนั้น มองว่าประเทศและประชาชนยังไม่พร้อมสำหรับการมีกาสิโนในประเทศ จึงประกาศให้การพนันและกาสิโนเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

แต่แล้วกาสิโนถูกกฎหมายแห่งแรกของประเทศ ก็เปิดตัวในปี 2010 โดยให้บริษัทจากสหรัฐฯ เป็นผู้บริหารแต่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของรัฐบาล ปัจจุบันสิงคโปร์มีกาสิโนหลักเพียง 2 แห่ง ได้แก่ Marina Bay Sands และ Resorts World Sentosa ซึ่งมุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และความบันเทิงมากกว่าการส่งเสริมการพนันโดยตรง

ผลกระทบเชิงบวกจากกาสิโน

จากกรณีศึกษาของกาสิโนทั่วโลก การเปิดกาสิโนในประเทศไทยอาจมีผลกระทบที่ดีในเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างรายได้ให้กับรัฐ การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการสร้างงาน และการพัฒนาของภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีกาสิโน

1. การสร้างรายได้ทางภาษีให้แก่รัฐบาล

หนึ่งในข้อได้เปรียบสำคัญที่สุดของการเปิดกาสิโน คือ การสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลผ่านเม็ดเงินภาษีจากการดำเนินการของกาสิโน รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียมการอนุญาต การเก็บภาษีจากผู้ที่ชนะพนัน และ ภาษีการขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับกาสิโน เป็นต้น
รายได้เหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ ได้ (Vong, 2008; Wu and Chen, 2015)

2. การส่งเสริมการท่องเที่ยว 

การเปิดกาสิโนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่กาสิโน เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย (อาจจะมีน้อยในปัจจุบัน)

นอกจากนี้ การพัฒนากาสิโนมักจะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ในชุมชนที่นักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าและบริการได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่หรือชุมชนได้เป็นอย่างดี(Garrett, 2004)

3. การลดอัตราการว่างงาน 

การเปิดกาสิโนจะสร้างโอกาสในการจ้างงาน ทั้งในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น พนักงานบริการลูกค้า ผู้ดูแลการดำเนินงาน คนทำความสะอาด และนักแสดงเพื่อความบันเทิง เป็นต้น
กาสิโนยังสามารถสร้างงานในภาคการก่อสร้าง และภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ร้านอาหาร ที่พักอาศัย และ การบริการด้านความปลอดภัย เป็นต้น (Wan, 2012)

ผลกระทบเชิงลบจากกาสิโน

จากกรณีศึกษาดังกล่าว การเปิดกาสิโนไม่เพียงแค่มีผลกระทบเชิงบวกเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และด้านอื่น ๆ ในหลายด้าน อาทิเช่น เรื่องของปัญหาการเสพติด การพนัน อาชญากรรมต่าง ๆ ความขัดแย้งในครัวเรือน รวมถึงผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน

1. การเสพติดการพนัน

หนึ่งในผลกระทบทางสังคมที่สำคัญจากการเปิดกาสิโน คือ การเพิ่มขึ้นของปัญหาการเสพติดการพนัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมโดยรวม ปัญหานี้อาจทำให้บุคคลสูญเสียเงินและทรัพย์สิน ไปจนถึงการตัดสินใจกระทำอาชญากรรม เพื่อหาเงินมาเล่นการพนัน

นอกจากนี้ การพนันยังเพิ่มภาระในการดูแลผู้ติดการพนัน ซึ่งอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจของ Thompson and Schwer (2005) ที่ได้หามูลค่าทางตัวเลขของผลกระทบเชิงสังคม (social costs) ที่มีต่อผู้ติดการพนัน 1 คน (compulsive gambler) ที่มีสูงถึงประมาณเกือบ 700,000 บาทเลยทีเดียว และอาจมีผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้น หากกฎหมาย และระเบียบควบคุมนั้น ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

2. อาชญากรรมและการฟอกเงิน 

การเปิดกาสิโนอาจเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องของการฟอกเงินและอาชญากรรม โดยเฉพาะในกรณีที่ภาครัฐไม่สามารถควบคุมการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้กาสิโนเป็นแหล่งฟอกเงินสามารถสร้างปัญหาด้านกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายในประเทศได้(Stokowski, 1996)

3. ผลกระทบต่อครอบครัวและชุมชน

การที่บุคคลไปเล่นการพนันบ่อยครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง และการใช้ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการละเลยหน้าที่การงานและการศึกษา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศนั้น ๆ ได้

มากไปกว่านั้น การเพิ่มขึ้นของการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาเสพติด และการขายบริการทางเพศ จากปัญหาทางด้านการพนัน ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจเช่นเดียวกัน (Chhabra, 2007; Petry, 2003)

4. ผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม

การมีกาสิโนในพื้นที่หนึ่งจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก ต่อการจราจรหากขาดโครงสร้างพื้นฐานที่ดีและเพียงพอ มลพิษทางอากาศและเสียง รวมไปถึงการบำบัดของเสียต่าง ๆ เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นการจราจรทางบกในเมืองเดนเวอร์ ของประเทศสหรัฐอเมริกา มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า หลังจากเปิดกาสิโนในเมืองเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น (Stokowski, 1998)

สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ภาครัฐ ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า สถานที่ตั้งของกาสิโน (หากมี) จะเป็นจังหวัดใด โครงสร้างพื้นฐานเป็นอย่างไร และผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างมีอะไรบ้าง

นอกจากนี้ ผู้เขียนจะขอยกมุมมองเกี่ยวกับการเปิดกาสิโนผ่านประสบการณ์จากทั้งประเทศที่มีรายได้สูงอย่าง สิงคโปร์ รวมถึงประเทศที่มีรายได้น้อยอย่าง กัมพูชา และ พม่า

สำหรับสิงคโปร์ ได้ใช้กาสิโนเป็นแหล่งรายได้สำคัญจากภาษี และการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเปิดกาสิโนใน Resorts World Sentosa และ Marina Bay Sands ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลอย่างมหาศาล รายได้จากภาษีกาสิโนถูกนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่าง ๆ 

นอกจากนี้ กาสิโนยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้สิงคโปร์ เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญ สำหรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบการพนัน โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านในทวีปเอเชีย มากไปกว่านั้น กาสิโนยังสร้างงานในหลายด้านในหลายตำแหน่ง ตั้งแต่การบริการลูกค้า การดูแลระบบเกม ไปจนถึงตำแหน่งด้านเทคโนโลยี ซึ่งช่วยลดปัญหาการว่างงานในประเทศได้ในมุมหนึ่ง 

นอกจากนี้ ยังส่งผลดีต่อการพัฒนาทักษะแรงงาน เนื่องจากการทำงานในกาสิโน ต้องใช้ทักษะพิเศษทั้งด้านการบริการ การจัดการการเงิน และทักษะทางด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี 

อย่างไรก็ตาม การเปิดกาสิโนก็นำมาซึ่งผลเสียเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการติดการพนัน แม้ว่าจะมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด แต่การติดพนันยังคงเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการพนันได้ 

ผลกระทบต่อครอบครัวก็เป็นอีกข้อเสียสำคัญ เนื่องจากการติดการพนัน อาจนำไปสู่ปัญหาทางการเงิน ความรุนแรงในครอบครัว หรือแม้แต่การล้มละลายจากการติดหนี้ติดสินจากการเล่นการพนัน 

นอกจากนี้ กาสิโนยังเพิ่มความเสี่ยงทางสังคม เช่น การฟอกเงิน หรือ การกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการพนัน ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรในการควบคุมและกำกับดูแลที่เพิ่มขึ้น 

กาสิโนในกัมพูชาและพม่า ก็มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่น ในเมืองท่องเที่ยวอย่าง สีหนุวิลล์ (Sihanoukville) ในประเทศกัมพูชา ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้านอย่างนักแสวงโชคชาวไทย ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวและเม็ดเงินรายได้ของรัฐโดยรวมเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกาสิโน ยังสร้างงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเปิดกาสิโนใหม่ ซึ่งช่วยลดอัตราการว่างงานและพัฒนาแรงงานภายในประเทศ อีกทั้งการลงทุนในกาสิโน ยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ที่พักอาศัย และสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม กาสิโนในกัมพูชาและพม่า ต่างก็เผชิญกับปัญหาร้ายแรงหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นก็คือ ปัญหาการฟอกเงินและการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จำเป็นจะต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด

นอกจากนี้ การขยายตัวของกาสิโน อาจนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่น ๆ เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการติดการพนันที่เพิ่มขึ้น อาชญากรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพนัน และปัญหาครอบครัว (UNODC, 2024)

อีกทั้งยังมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงานในประเทศกัมพูชา โดยมีรายงานว่า พนักงานบางส่วนต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม และได้รับค่าจ้างที่ต่ำ

มากไปกว่านั้นในบางพื้นที่ที่มีกาสิโนตั้งอยู่ประสบกับการพัฒนาที่ไม่สมดุล ระหว่างการเติบโตของอุตสาหกรรมกาสิโน กับ การพัฒนาในด้านอื่น ๆ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงสังคมและเศรษฐกิจได้

เหล่านี้ ล้วนเป็นปัญหาที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศ จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการกำกับดูแลและแก้ไขอย่างรวดเร็วและจริงจัง

กลไกควบคุมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ในกรณีศึกษาของแต่ละประเทศ ตัวอย่างที่ดีในการใช้กลไกและกฎหมายต่าง ๆ ในการควบคุมการดำเนินงานของกาสิโน เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบจากการพนัน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน

โดยประเทศสิงคโปร์ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการออกนโยบาย และมีกลไกที่เข้มงวดในการควบคุมดูแลอุตสาหกรรมกาสิโนที่น่าสนใจ ดังนี้

-สิงคโปร์ได้จัดตั้งหน่วยงานควบคุมดูแลกาสิโนโดยตรงที่ชื่อว่า Gambling Regulatory Authority (GRA) โดยมีกระทรวงมหาดไทย (Ministry of Home Affairs) เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และกระทรวงการพัฒนาสังคมและครอบครัว (Ministry of Social and Family Development) เป็นผู้ดูแลผลกระทบเชิงสังคมที่มีต่อพลเมืองสิงคโปร์โดยเฉพาะผู้เยาว์ และกลุ่มผู้เปราะบาง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวทำหน้าที่กำหนดและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกาสิโน

หน่วยงานนี้รับผิดชอบในการตรวจสอบการดำเนินการของกาสิโนทุกแห่ง รวมถึงการดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย และการป้องกันอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิเช่น การติดการพนัน การฉ้อโกง และการฟอกเงิน (หน่วยงานนี้ถูกจัดตั้งก่อนการเปิดใช้งานกาสิโน 2 ปี) รวมไปถึงช่องทางความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่ได้รับจากกาสิโนก็มีมากมายหลายช่องทางเช่นเดียวกัน

- การควบคุมการเข้ากาสิโน : สิงคโปร์มีการจำกัดการเข้าถึงกาสิโน สำหรับบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะ และในกรณีที่บุคคลใดมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดการพนัน เช่น การกำหนดให้ประชากรชาวสิงคโปร์ ที่ต้องการเข้ากาสิโนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการเข้าชม โดยมีทั้งสิ้น 2 รูปแบบ คือ รายวัน (150 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 4,000 บาท) และรายปี (3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 75,000 บาท) (Can, 2024) 

                           บ่อน (ทำลาย?)

นอกจากนี้ ยังมีการห้ามผู้ที่ติดการพนัน คนที่มีหนี้สินสูง หรือบุคคลล้มละลายเข้ากาสิโน รวมไปถึงกลุ่มประชากรที่ได้รับสวัสดิการของภาครัฐก็ถูกจำกัดการเข้าไปใช้บริการในกาสิโนอีกด้วย

-ความรับผิดชอบต่อสังคม : สิงคโปร์มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการพนันที่ยั่งยืน และค่อนข้างมีประสิทธิภาพ มากไปกว่านั้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังจัดให้มีหลักสูตรที่ชื่อว่า Responsible Gambling Program เพื่อให้ความรู้ และแนวปฏิบัติสำหรับผู้เล่น ชุมชน ในการควบคุมและประเมินตนเองของผู้เล่น ประโยชน์และโทษของการพนันรวมถึงเพื่อให้บริษัทกาสิโน ปฏิบัติตามเพื่อให้ความรู้แก่ลูกค้าเกี่ยวกับการเล่นพนันอย่างมีความรับผิดชอบ ตลอดจนการออกกฎควบคุมพฤติกรรมการเล่นการพนัน และการให้บริการช่วยเหลือผู้ที่ติดการพนัน  

ถึงอย่างไรก็ตาม หากภาครัฐมองว่า บ่อนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเพิ่มรายได้เข้าประเทศ และจะนำรายได้ส่วนดังกล่าว เข้าไปเพิ่มรายได้ที่แท้จริงของครัวเรือน ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน และ การศึกษา การลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นไปที่การลดความเหลื่อมล้ำและลดความยากจนจริง

ผู้เขียนก็อยากที่จะเสนอแนะให้พิจารณาถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ก่อน

1) การเก็บภาษีในระดับที่สูงและนำไปใช้ในภาคส่วนที่จำเป็น (earmarking) ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการต่าง ๆ ของประชาชนชาวไทย ยกตัวอย่างเช่น ระดับภาษีกาสิโน ที่เก็บสูงถึงร้อยละ 90 ของรายได้จากกาสิโน (Gross Gaming Revenue: GGE) ในประเทศเยอรมนี ร้อยละ 80 ในฝรั่งเศสและออสเตรีย และร้อยละ 75 ในประเทศเดนมาร์ก 

2) ข้อแลกเปลี่ยนในการถ่ายทอดกระบวนการ เทคโนโลยี และการพัฒนาทักษะ บริษัทเอกชนที่เข้ามาดำเนินการในธุรกิจกาสิโน ควรมีการถ่ายทอดความรู้ทางด้านต่าง ๆ ให้กับแรงงานชาวไทย เพื่อให้แรงงานสามารถที่จะพัฒนาทักษะ และทำงานที่มากกว่าการใช้แรงงานค่าจ้างถูกเพียงแค่นั้น (labor-intensive and low-paid jobs) ซึ่งอาจจะเป็นการพัฒนาทักษะนอกเหนือจากอุตสาหกรรมกาสิโนก็ได้

3) การออกกฎหมายที่ชัดเจนและเข้มงวดเพื่อการบริหารจัดการ ควบคุมและลงโทษ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงความโปร่งใสในการบริหารจัดการกิจกรรม และขั้นตอนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งเรื่องของการคัดเลือกบริษัทกาสิโน ที่จะเข้ามาลงทุน สัดส่วนของบ่อน การจัดเก็บรายได้ รวมถึงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว หรือ ธุรกิจขนาดเล็ก-กลางในชุมชนที่มีบ่อนการพนัน

4) การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและชุมชน การรับฟังภาคประชาคมที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ภาครัฐจะตัดสินใจในเรื่องใหญ่ใด ๆ โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบรุนแรงรอบด้าน อย่าง บ่อนการพนันนี้ ควรจะมีการทำวิจัย การหาข้อมูลเชิงผลกระทบ รวมไปถึงการทำประชาพิจารณ์ก่อน เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด

5) การทำ sand box ก่อนในชุมชน หรือ จังหวัดเป้าหมาย และเมืองรอง เพื่อศึกษาและควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้น ก่อนขยายขนาดของ entertainment complex หรือ กาสิโนในภายหลัง ก็เป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ

โดยสรุปแล้วแนวคิดการเปิดกาสิโนในประเทศไทยนั้น ยังมีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพนันเกินตัว การติดการพนัน และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การฟอกเงินและการฉ้อโกง

อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าในประชากรกลุ่มเปราะบาง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ปัญหาสุขภาพจิต ความเครียดและความรุนแรงในครอบครัว รวมไปถึงผลกระทบอื่น ๆ อีกมากมาย 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศ อาจเผชิญความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากกาสิโนมากเกินไป ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่ไม่มั่นคงและอ่อนไหวต่อสภาวะเศรษฐกิจ เช่น กรณีของมาเก๊า ที่ประสบปัญหารายได้ลดลงอย่างหนัก เมื่อรัฐบาลจีนเข้มงวดกับกฎระเบียบด้านการพนัน

อีกทั้งรายได้จากอุตสาหกรรมนี้ อาจกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนายทุนหรือบริษัทใหญ่เพียงเท่านั้น มากกว่าที่จะกระจายไปสู่ประชาชนอย่างเท่าเทียม

ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดกาสิโนยังขัดแย้งกับวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดีของสังคมไทย ที่มีรากฐานในการต่อต้านการพนันอยู่แล้ว แม้ว่าปัจจุบันจะมีการพนันผิดกฎหมายอยู่แล้วก็ตาม แต่การทำให้ถูกกฎหมายอาจเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่ขัดกับค่านิยมดั้งเดิม และอาจทำให้ภาครัฐ ต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นในการกำกับดูแล และลดผลกระทบทางลบเป็นอย่างมาก

ในภาพรวมการสร้างกาสิโนในปัจจุบัน จะนำมาซึ่งปัญหามากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยเฉพาะในแง่ของผลกระทบระยะยาวต่อสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศไทยอย่างแน่นอน

โดยส่วนตัวแล้ว ในฐานะที่ผู้เขียนเอง ก็มีสถานะเป็นอาจารย์ค่อนข้างเป็นห่วงผลกระทบของบ่อนการพนันที่มีต่อสังคมโดยรวม โดยเฉพาะผลกระทบที่จะตกสู่กลุ่มเปราะบาง และ นิสิตนักศึกษา ที่อาจจะยังมีภูมิคุ้มกันไม่มากเพียงพอต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมดังกล่าว และก็ยังกังวลกับความเร่งด่วนในการตัดสินใจของภาครัฐ ที่จะเปิดกาสิโนในประเทศ

โดยให้เหตุผลหลักของการที่บ่อนจะเข้ามาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว ซึ่งในความเป็นจริง แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีบ่อนการพนัน ก็เป็นเป้าหมายในการท่องเที่ยวของผู้คนจากทั่วโลกอยู่แล้ว การอ้างว่าจะใช้บ่อนในการเพิ่มนักท่องเที่ยว และเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น

เนื่องด้วยธุรกิจบ่อนการพนันนั้น มีความเฉพาะไม่เหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ การเปิดบ่อนนั้น มีผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงและยาวนาน ทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคม และอาจมากขึ้นไปอีกในบริบทของไทย ซึ่งยังไม่มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ

อีกทั้งในปัจจุบัน ยังมองไม่เห็นแผนการดำเนินงาน หรือ นโยบายของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม หากรัฐต้องการที่จะเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาและลงทุนในสิ่งที่ยั่งยืนมากกว่า และมีผลกระทบน้อยกว่า โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการศึกษา และคุณภาพประชากรในประเทศ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างประเทศสิงคโปร์ จีน เกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่น ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับต้น ๆ

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณปัญจพล สัตยานุรักษ์ นักวิชาการสรรพสามิตชำนาญการ กรมสรรพสามิต สำหรับการค้นคว้าและช่วยรวบรวมสำหรับการเขียนบทความนี้