วิกฤตของทุนนิยมแบบเสรีนิยม

05 ก.พ. 2568 | 11:47 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2568 | 12:00 น.

วิกฤตของทุนนิยมแบบเสรีนิยม : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย...ผศ.ดร.กุลลินี มุทธากลิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4068

นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กับ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง มีมุมมองต่อวิกฤตเศรษฐกิจแตกต่างกัน ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักพิจารณาว่า วิกฤตเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เกิดจากปัจจัยภายนอกระบบทุนนิยม นักเศรษฐศาสตร์การเมืองพิจารณาว่า สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจเกิดจากตัวระบบทุนนิยมเอง 

ทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คือ การปล่อยให้กลไกตลาดปรับตัวจนเข้าสู่ดุลยภาพ หรือ ให้รัฐเข้ามาดำเนินนโยบายเพื่อช่วยทำให้ตลาดเข้าสู่ดุลยภาพได้เร็วขึ้น ในอีกด้านหนึ่งนักเศรษฐศาสตร์การเมืองบางกลุ่มมองว่า แม้วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดจากตัวระบบทุนนิยมเอง ระบบทุนนิยมสามารถปรับตัวเพื่อหาทางออกจากวิกฤตได้

การอธิบายวิกฤตเศรษฐกิจ อาจใช้ทฤษฎีทั่วไปในการอธิบายวิกฤตสำหรับทุกสถานที่ทุกเวลาได้ แต่นักเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบสถาบันนิยม อย่างพวกโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อต่อการสะสมทุน (SSA) เสนอว่า ทฤษฎีทั่วไปมีความเป็นนามธรรมสูง จึงควรนำเอาบริบทโครงสร้างสถาบันที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ในแต่ละช่วงเวลา มาช่วยอธิบายด้วย 

แนวคิดนี้พิจารณาว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีทุนนิยมอยู่ 2 รูปแบบ คือ ทุนนิยมแบบเสรีนิยม และ ทุนนิยมแบบควบคุมกำกับดูแล ทุนนิยมแต่ละรูปแบบต่างก็มีลักษณะที่แตกต่างกัน ส่งผลให้มีความแตกต่างกันในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แต่วิกฤตของทุนนิยมแบบเสรีนิยมจะรุนแรงกว่าทุนนิยมแบบกำกับควบคุม

โครงสร้างสถาบันของทุนนิยมแบบควบคุมกำกับดูแล ได้แก่ รัฐควบคุมเศรษฐกิจ พฤติกรรมทางธุรกิจและการเงินอย่างแข็งขัน ความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานในสถานที่ทำงาน เป็นไปแบบประนีประนอมโดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่และแรงงาน ธุรกิจขนาดใหญ่ร่วมมือกันและเลี่ยงที่จะแข่งขันกัน อุดมการณ์หลักเน้นประโยชน์ของการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจโดยรัฐ ความร่วมมือกันระหว่างทุนกับแรงงาน และการแข่งขันกันอย่างอารยะ

ภายใต้ระบบทุนนิยมที่มีการควบคุม แรงงานมีแนวโน้มที่จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเผชิญวิกฤตแบบบีบคั้นกำไร ในขณะที่จำนวนคนว่างงานลดลง ส่งผลให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงขึ้นแต่กำไรลดลง

เมื่อพิจารณาจากบริบททางประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา การวิเคราะห์หลายชิ้นพบว่า วิกฤตการณ์เศรษฐกิจในทศวรรษ 1970 มีปัจจัยสำคัญจากการบีบคั้นของผลกำไร อันเนื่องมาจากวิกฤตของโครงสร้างทุนนิยมแบบควบคุมกำกับดูแลภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

หากต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจ เกิดจากอำนาจต่อรองของแรงงานเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับทุน ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายที่ทำให้มีการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างจากทุนนิยม ที่มีการควบคุมไปสู่ทุนนิยมแบบเสรีนิยม ดังเช่นที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 1980 นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงในแนวทางดังกล่าว ทำให้อำนาจต่อรองของทุนเพิ่มมากขึ้น ผ่านการรื้อถอนกฎระเบียบทางเศรษฐกิจของรัฐ และการตัดทอนรายจ่ายโครงการสวัสดิการทางสังคม

ในอีกด้านหนึ่ง ลักษณะหลักเชิงสถาบันของทุนนิยมแบบเสรีนิยม ได้แก่ การมีกฎระเบียบของรัฐทางเศรษฐกิจที่จำกัด ทุนมุ่งที่จะควบคุมแรงงานอย่างเต็มที่ในที่ทำงาน บรรษัทขนาดใหญ่ทำการแข่งขันกันอย่างรุนแรง อุดมการณ์เสรีนิยมเป็นแนวคิดหลัก จึงมองว่ารัฐเป็นศัตรูกับเสรีภาพและประสิทธิภาพ แต่ยกย่องการแข่งขันกันระหว่างทุน

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1980 ทำให้เกิดโครงสร้างทางสังคมของทุนนิยมแบบเสรีนิยม วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2007-2008 ในสหรัฐอเมริกา จึงเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นจากสถาบันแบบเสรีนิยม เนื่องมาจากองค์ประกอบ 3 อย่าง ได้แก่ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างค่าจ้างและกำไร การเกิดฟองสบู่ขนาดใหญ่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ภาคการเงินมีการเก็งกำไร และการดำเนินงานที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีแนวโน้มที่จะทำให้อุปสงค์มวลรวมมีระดับต่ำกว่าผลผลิต ผลกำไรที่มากขึ้นทำให้มีการสะสมทุนมากขึ้น มีการผลิตมากขึ้น แต่ค่าจ้างที่ลดลงและการกระจุกตัวของการกระจายรายได้ ที่ความมั่งคั่งอยู่ที่กลุ่มผู้มีรายได้สูง จำกัดระดับการเติบโตของอุปสงค์มวลรวม เนื่องจากคนที่มีรายได้สูงไม่ได้ใช้ส่วนแบ่งของความมั่งคั่งไปกับการบริโภค

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างสถาบันแบบเสรีนิยมใหม่ เลื่อนวิกฤตการณ์ความไม่เพียงพอของอุปสงค์มวลรวมออกไป การเติบโตขึ้นของผลกำไรกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น วิธีการดังกล่าวทำให้เกิดการขยายตัว และยื้อปัญหาของอุปสงค์มวลรวมที่ไม่เพียงพอออกได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

แต่ในที่สุดแล้วปัญหาความไม่สมดุลของการบริโภคปัจจัยการผลิตจะเติบโตเร็วเกินไปเมื่อเทียบกับผลผลิต โครงสร้างสถาบันแบบเสรีนิยมใหม่จึงสร้างฟองสบู่ของสินทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งสร้างปัญหาที่ต้องแก้ไขยาวนานขึ้น

ฟองสบู่ของสินทรัพย์ทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการคาดการณ์ว่า สินทรัพย์จะมีราคาเพิ่มขึ้นในอนาคต ยิ่งจะทำให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น เป็นวงจรที่ขยายตัวเป็นฟองสบู่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อฟองสบู่แตก การใช้จ่ายของผู้บริโภคจะลดลงมากกว่าปกติ 

ขณะที่การคาดหวังผลกำไรจากการลงทุนพังทลายลง สิ่งที่ตามมากก็คือ ความต้องการของผู้บริโภค และการลงทุนลดลง จนเผยให้เห็นกำลังการผลิตส่วนเกิน ที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อนในช่วงที่ฟองสบู่ยังไม่แตก สิ่งนี้ลดแรงจูงใจในการลงทุนระยะยาวลง

ตราบใดที่ฟองสบู่สินทรัพย์อย่างอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจก็จะขยายตัว การจัดให้มีสินเชื่อจำนองอสังหาริมทรัพย์จำนวนมหาศาลให้กับเจ้าของบ้าน ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคขยายตัวอย่างรวดเร็วจากมูลค่าบ้านที่เพิ่มขึ้น 

                         วิกฤตของทุนนิยมแบบเสรีนิยม

ดังนั้น การเก็งกำไรโดยการให้กู้ของภาคการเงินทำให้ฟองสบู่ยังคงขยายตัวต่อไปได้ ในขณะที่ช่วยให้มูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้ ส่งผลให้ภาคการเงินเปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งท้ายที่สุดก็มีมูลค่าทรุดตัวลง แต่ยังให้การกู้ยืมเงินมากขึ้น เพื่อแสวงหาผลกำไรจากกิจกรรมเก็งกำไร

โครงสร้างทางสถาบันของทุนนิยมแบบเสรีนิยม และแบบควบคุมกำกับ มีความแตกต่างกันในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น กล่าวคือ เมื่อทุนนิยมแบบควบคุมกำกับเผชิญวิกฤต รัฐเพิ่งมีประสบการณ์ในการควบคุมจัดการเศรษฐกิจ ซึ่งเอื้อต่อการแก้ไขวิกฤตดังกล่าว แต่เมื่อทุนนิยมแบบเสรีนิยมเผชิญวิกฤต รัฐกลับไม่มีการควบคุมจัดการเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลานาน มีความสามารถและประสิทธิภาพในการจัดการวิกฤตที่น้อยกว่า อีกทั้งปัญหา หรือ วิกฤตของทุนนิยมแบบเสรีนิยมยังรุนแรงกว่า

ทิศทางของการปรับตัวของสถาบันของทุนนิยมแบบเสรีนิยมในศตวรรษที่ 21 มี 2 ทิศทาง ทิศทางแรก เป็นการผงาดขึ้นของรัฐบาลชาตินิยมเผด็จการของพรรคการเมืองในประเทศต่าง ๆ ที่ตอบโต้กับความพยายามแก้ไขฟื้นฟูของขบวนการด้านสิ่งแวดล้อม ทิศทางนี้ก่อให้เกิดอันตรายจากความขัดแย้งระหว่างรัฐ เกิดการต่อต้าน เหยียดเชื้อชาติ และการถอยหลังเข้าคลองของนโยบายทางสังคม 

ทิศทางที่สอง ได้แก่ การตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จะนำมาซึ่งหายนะในอนาคตของมนุษยชาติ จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการปรับโครงสร้าง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ในเวลาเดียวกัน ก็กระตุ้นให้เกิดการสนับสนุนเพื่อการปฏิรูปที่ก้าวหน้า แบบที่เรียกว่า สังคมประชาธิปไตยสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้ง 2 ทิศทางดังกล่าวต่างมีข้อบกพร่อง ขณะที่ลัทธิชาตินิยมเผด็จการมีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งการปราบปรามสร้างความขัดแย้งระดับโลกและความหายนะด้านสิ่งแวดล้อม สังคมประชาธิปไตยสีเขียว อาจถูกขัดขวางต่อต้านโดยทุน และอาจไม่เพียงพอ หรือ ทันเวลาพอที่จะป้องกันภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย