วิกฤตค่ายังชีพและความเหลื่อมล้ำ ไม่ยักจะทำให้คนอเมริกาลงคะแนนเสียงเลือกพรรคเดโมแครต ที่เคยเป็นพรรคของชนชั้นแรงงาน โดย นายเบอร์นี่ แซนเดอร์ (Bernie Sanders) นักการเมืองปีกซ้ายได้ออกมากล่าวว่า ที่ ทรัมป์ ชนะ เพราะพรรคเดโมแครตได้ทอดทิ้งชนชั้นแรงงานไปแล้ว หลังคะแนนผลการเลือกตั้งออกมาให้กับประธานาธิบดีทรัมป์
โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ทรัมป์ สามารถดึงคะแนนของรัฐสมรภูมิ swing state ได้ทั้งหมด ทำให้มีคะแนนโหวตประธานาธิบดีขาดลอย รวมถึง popular vote ที่แสดงถึงคะแนนเสียงของประชาชนทั้งประเทศ ที่พรรครีพับบริกันไม่เคยได้มาหลายสิบปี
ตอนนี้พรรคเดโมแครตไม่ได้มีข้ออ้างอะไรอีกแล้ว นอกจากที่ว่า ประชาชนแรงงานระดับกลางไม่ลงคะแนนให้อีกต่อไป ทั้งๆ ที่นโยบายของพรรคเดโมแครตโดยภาพรวมนั้น สนับสนุนแรงงานมากกว่าพรรครีพับบลิกัน ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยโดยจะเข้ารับตำแหน่งกลางเดือนมกราคมนี้
ทั้งนี้ผู้เขียนอยากจะเสนอให้มองระบบการเมืองประชาธิปไตยด้วยกรอบแนวคิดแบบวิวัฒนาการในเศรษฐศาสตร์สถาบันและพฤติกรรม เพื่อวิเคราะห์ทำความเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นในระบบได้ แทนที่จะมองว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุดอย่างที่เข้าใจกันในสื่อกระแสหลัก
เราควรจะมองว่า ประชาธิปไตยนั้น เป็นระบบที่เอื้อต่อการวิวัฒนในสังคมมนุษย์ เป็นตัวเร่งในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระเบียบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ต้องบอกกล่าวก่อนว่า วิวัฒนาการของมนุษย์กับสัตว์นั้นแยกออกจากกัน ถึงแม้กรอบความคิดแบบวิวัฒนนั้น จะมีจุดเริ่มมาในแบบดาร์วินซึ่งสัตว์ที่แข็งแกร่งนั้นอยู่รอด (survival of the fittest) แต่มนุษย์นั้นไม่ใช่สัตว์ จึงมีสันดานที่แยกออกมาจากสัญชาติญาณสัตว์
ในขณะที่ปลาใหญ่นั้นกินปลาเล็ก มนุษย์แตกต่างออกไป มีสันดานที่จะร่วมมือกันและสร้างสรรค์ทำงานทำการผลิต แต่ในขณะเดียวกันนั้น ก็มีสันดานที่อยากจะอยู่เหนือผู้อื่น อยากมีชีวิตที่สุขสบาย เอาเปรียบจากการผลิตของผู้อื่น
พฤติกรรมจากสันดานสองด้านนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐศาสตร์สถาบันและพฤติกรรม มนุษย์ปรับตัวไปกับสภาพแวดล้อมของระบบเพื่อการสร้างสรรค์และการอยู่รอด
ผู้เขียนเห็นว่า การที่คนอเมริกันเลือก ทรัมป์ นั้น ก็เป็นวิวัฒนาการของระบบที่พยายามปรับตัว การวิวัฒนนั้นไม่ใช่แค่การปฏิรูป หรือปฏิวัติ เนื่องจากกรอบความคิดของการวิวัฒนไม่ใช่เส้นตรง การเดินหน้าถอยหลังเกิดขึ้นตลอดเวลา
เศรษฐศาสตร์สถาบันเห็นว่า องค์กร วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ในสังคม เป็นปัจจัยในการแก้ปัญหา กระจายรายได้และทรัพยากร และที่สำคัญที่สุดคือ ความเหลื่อมล้ำ อาจกล่าวได้ว่า วิกฤตของเสรีนิยมตลาดประชาธิไตยทั่วโลกในขณะนี้ เกิดขึ้นเพราะปัญหาในการกระจายรายได้ และการที่คนอเมริกันเลือก ทรัมป์ เป็นปรากฏการณ์ปรับตัวของระบบสถาบันในสังคมต่อการกระจายรายได้ แต่อาจจะอยู่ในช่วงเดินถอยหลังเพื่อก้าวไปข้างหน้า
เศรษฐศาสตร์สถาบันและพฤติกรรมในแนวทางของผู้ประสิทธิ์วิชานี้ที่ชื่อ ธอสเตี่ยน เวปเบลน (Thorstien Veblen, 1857-1929) เห็นว่า สถาบันและพฤติกรรมของมนุษย์นั้นมีสองด้าน เกิดมาจากธรรมชาติตามสันดานที่จะปรับตัวเอาตัวรอดและสร้างสรรค์ สถาบัน ประเพณี วัฒนธรรมต่างๆ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อสนองสันดานสองด้าน
ขั้วตรงข้ามนี้ เป็นสันดานขั้วปฏิปักษ์ (Antagonistic Dichotomy) ที่อยู่ในมนุษย์ทุกคน ตามแต่สติสัมปะชัญญะและอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกัน เลือกแสดงออกมาในสถาบัน ประเพณี และวัฒนธรรม
ยกตัวอย่างเช่น โครงสร้างการจัดการในชุมชนนั้น ขัดแย้งกับโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ ประเพณีชาวบ้านเป็นขั้วตรงข้ามกับประเพณีอภิสิทธิ์ วัฒนธรรมแม่เป็นใหญ่สู้กับวัฒนธรรมพ่อเป็นใหญ่ อุดมการณ์เสรีนิยมขัดกับอุดมการณ์อภิสิทธิ์นิยม
ขั้วขัดแย้งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้และทรัพยากร หากระบบวิวัฒนให้ขั้วไหนมีอำนาจ ก็จะกำหนดให้ระบบสังคมมีความเสมอภาค หรือเป็นลำดับชั้นตามอำนาจของขั้วนั้น นี่เป็นวิธีการคิดแบบวิวัฒน
เนื่องเพราะการวิเคราะห์ขั้วขัดแย้งแบบวิวัฒนเช่นนี้ ไม่ได้มองการพัฒนาของประวัติศาสตร์สังคมเป็นเส้นตรง หากระบบวิวัฒนไปทางขั้วใดก็จะเปลี่ยนสังคมไปในแนวทางนั้น กลับไปกลับมาเดินหน้าถอยหลังเป็นวัฐจักร
การผุดขึ้นมาของ ทรัมป์ ตั้งแต่ปี 2016 นั้น เป็นการวิวัฒนในลักษณะหนึ่ง การวิวัฒนอาจจะไม่มีเหตุผล อธิบายไม่ได้ ทำนายไม่ได้ แต่เกิดขึ้น เพราะการปรับตัวของมนุษย์ โดยที่เรามีสันดานสองด้าน ที่จะปรับตัวเอาตัวรอดไปกับระบบ
โดยสังคมอเมริกาปรับตัวจากระเบียบเดิมของเสรีนิยมตลาดประชาธิปไตย เพราะระเบียบเดิมนั้นไม่สามารถประมวลผล หมดความเป็นสถาบันที่ทำให้เกิดความยุติธรรมในการกระจายรายได้อีกต่อไป
แนวคิดแบบวิวัฒนนี้ สามารถนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้ โดยคนเราที่อยู่ในสังคมที่เป็นลำดับชั้นอุปถัมภ์ ก็จะพยายามสร้างอภิสิทธิ์ของตนเอง พยายามเข้าสู่ระบบ มีพฤติกรรมปรับตัวไปกับระบบเศรษฐกิจสังคมที่เป็นอยู่
ในสังคมไทยเราเอง หากใช้กรอบการคิดแบบวิวัฒนเพื่อมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมือง ก็จะสามารถอธิบายปรากฏการณ์การหลายๆ ด้านได้อย่างแหลมคม เช่น ประชาธิปไตยกับคะแนนเสียงการเมืองบ้านใหญ่ พฤติกรรมการหารายได้ที่อิงความหรูหราอภิสิทธิ์ หรือระบบการศึกษา และปริญญาที่อาจจะมีค่าเพียงเป็นใบผ่านทางแทนความรู้และปัญญา
เวปเบลน แนะนำให้เราดูปรากฏการณ์เหล่านี้ ในลักษณะกรอบแนวคิดของการวิวัฒน ทั้งนี้ก็เพื่อจะทำความเข้าใจพฤติกรรมนุษย์ โดยไม่ได้ไปดูถูกการกระทำ หรือการตัดสินใจในด้านที่เราไม่เห็นด้วย และที่เราตัดสินว่าไม่มีเหตุผล มนุษย์นั้นไม่ใช่สัตว์ แต่การกระทำของมนุษย์ก็ปรับตัวไปตามสันดานสองด้านเพื่อการเอาตัวรอด
การมองด้วยกรอบการคิดแบบวิวัฒนนี้ จะทำให้เราเห็นภาพใหญ่ เพื่อจะมองให้เห็นถึงสาเหตุที่แท้จริง และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้
การผุดขึ้นมาของ ทรัมป์ เป็นการวิวัฒนถอยหลังเดินหน้า เช่นเดียวกับปรากฎการณ์หลายๆ อย่างในบ้านเรา ที่มาจากกการปรับตัวจากสันดานสองด้านของมนุษย์